หากพูดถึง DW (Derivative Warrant) หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับ DW ที่อ้างอิงกับหุ้นไทย หรือดัชนีหุ้นไทย จากลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ ไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง อีกทั้งยังใช้เงินลงทุนน้อยกว่า แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าการลงทุนจริงในหลักทรัพย์อ้างอิง ทำให้นักลงทุนนิยมใช้ DW เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเก็งกำไร
ปัจจุบันนักลงทุนไทยมีการกระจายการลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมโยงการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้ในปัจจุบันนอกเหนือจาก DW ที่อ้างอิงกับหุ้นไทย และดัชนีหุ้นไทยแล้ว ยังมี DW ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นต่างประเทศ อาทิ Hang Seng Index (HSI), S&P 500 Index (SPX) และดัชนีดาวโจนส์ (DJI)
และล่าสุดทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มเปิดซื้อขาย DW อ้างอิงหุ้นต่างประเทศเป็นครั้งแรก ประเดิมด้วย DW อ้างอิงหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ได้แก่ อาลีบาบา (Alibaba) เทนเซ็นต์ (Tencent) เหม่ยถวน (Meituan) เสียวมี่ (Xiaomi) เจดี ดอทคอม (JD.com) และเกรท วอลล์มอเตอร์ (Great Wall Motor) ซึ่งออกโดย บล. แมคควอรี เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทยให้แก่ผู้ลงทุน เริ่มซื้อขาย 6 รุ่นแรก 16 ธ.ค. นี้
DW อ้างอิงหุ้นฮ่องกงจะมีรายละเอียดและความน่าสนใจอย่างไร สามารถติดตามได้ในบทความนี้
ทำความรู้จัก DW และ DW อ้างอิงหุ้นต่างประเทศ
DW (Derivative Warrant) หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ให้สิทธิซื้อ (Call) หรือขาย (Put) หลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Assets) ในอนาคต ตามราคาและอัตราใช้สิทธิในเวลาที่กำหนด นักลงทุนจึงสามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง นอกจากนี้ DW ยังมีอัตราทด (Leverage) จึงใช้เงินลงทุนน้อย แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้น (แต่หากผิดพลาดก็อาจขาดทุนสูง)
- Call DW เป็นเครื่องมือให้ผู้ลงทุนมีโอกาสทำกำไร หากคาดว่าราคาหลักทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวขึ้นในอนาคต
- Put DW เป็นเครื่องมือให้ผู้ลงทุนมีโอกาสทำกำไร หากคาดว่าราคาหลักทรัพย์อ้างอิงจะปรับราคาลงในอนาคต
ปัจจุบันมี DW มีหลักทรัพย์อ้างอิงที่เปิดให้ซื้อขายแล้วได้แก่ หุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทย ดัชนีหุ้นต่างประเทศ และล่าสุดคือหุ้นต่างประเทศ โดยหุ้นต่างประเทศที่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง จะต้องเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 แสนล้านบาทขึ้นไป
เปรียบเทียบลักษณะของ DW อ้างอิงหุ้นไทย และ DW อ้างอิงหุ้นต่างประเทศ
- ช่วงเวลาในการซื้อขาย | DW อ้างอิงหุ้นไทยจะมีการหยุดพักการซื้อขายระหว่างวัน ในขณะที่ DW อ้างอิงหุ้นต่างประเทศสามารถซื้อขายได้ตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่ตลาดเปิด (ประมาณ 10.00 น.) จนถึงตลาดปิด (ประมาณ 16.30 น.)
- ช่วงราคาสูงสุด-ต่ำสุด | DW อ้างอิงหุ้นไทยกำหนดช่วงของราคาสูงสุด-ต่ำสุด คิดเป็น + 30% ของราคาปิดหุ้นอ้างอิงต่อหน่วย DW ส่วน DW อ้างอิงหุ้นต่างประเทศกำหนดช่วงของราคาสูงสุด-ต่ำสุด ไม่เกิน 20 เท่า จากราคาปิด DW ของวันก่อนหน้า หรือราคาในวันแรก
จุดเด่นและประโยชน์ต่อผู้ลงทุน
- สามารถกระจายการลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศขนาดใหญ่ โดยลงทุนตามเวลาไทย และใช้สกุลเงินบาท
- ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่ หากมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เดิมอยู่แล้วกับบริษัทหลักทรัพย์ใดก็ได้ ก็สามารถทำการซื้อขาย DW อ้างอิงหุ้นต่างประเทศได้ทันที
- สามารถทำกำไรจากหุ้นต่างประเทศได้ไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง
- มีอัตราทด (Leverage) จึงใช้เงินลงทุนน้อย แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง (แต่หากผิดพลาดก็อาจขาดทุนสูง)
ทำไม DW อ้างอิงหุ้นต่างประเทศกลุ่มแรกต้องเป็นหุ้นฮ่องกง
หุ้นต่างประเทศที่ใช้เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Assets) ของ DW ในกลุ่มแรกนี้ คือหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้จัก และอยู่ในเมกะเทรนด์ โดยเป้าหมายคือนักลงทุนที่สนใจกระจายการลงทุนไปยังหุ้นฮ่องกง ในกลุ่มเทคโนโลยี รถไฟฟ้า และธุรกิจ e-commerce ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนสูง และรับความเสี่ยงได้มาก โดยผู้ออก DW อ้างอิงหุ้นฮ่องกงเป็นครั้งแรกนี้คือ บริษัทหลักทรัพย์ แมคควอรี (ประเทศไทย) จำกัด
รายละเอียดของหุ้นฮ่องกงที่ใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิง
ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด โดยบล. แมคควอรี ได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่อ้างอิงกับหุ้นของบริษัทดังต่อไปนี้
Alibaba (อาลีบาบา)
เป็นบริษัท e-Commerce ยักษ์ใหญ่ของจีนที่มีส่วนแบ่งยอดขายออนไลน์แทบจะทั้งหมดของประเทศจีน และยังเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Online Shopping ที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ Alibaba ยังดำเนินธุรกิจ Cloud Computing การค้าเชิงพาณิชย์ ธุรกิจบันเทิงและสื่อดิจิทัล รวมถึงการริเริ่มนวัตกรรมต่างๆ Alibaba ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 โดยแจ็ค หม่า มีเว็บไซต์ Online Shopping ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน คือ Taobao (เถาเป่า) ขณะที่ในประเทศไทยคือ Lazada
Meituan (เหม่ยถวน)
เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม e-Commerce ชั้นนำของจีนที่เชื่อมโยงบริการให้กับผู้บริโภคและร้านค้าได้มาเจอกัน ตั้งแต่การซื้อขายอาหาร รวมไปถึงการให้บริการด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น บริการส่งอาหาร จองร้านอาหาร จองโรงแรม ซื้อตั๋วหนัง ซื้อตั๋วโดยสาร การแชร์จักรยาน และการหารถรับจ้างขนของ
Tencent (เทนเซ็นต์)
หลายคนคงคุ้นเคยกับหนึ่งในแอปพลิเคชัน WeChat WeTV เกมส์ PUBG หรือเกมส์ League of Legends ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Tencent โดย Tencent ดำเนินธุรกิจในหลากหลายด้าน อาทิ ธุรกิจการสื่อสารและโซเชียลมีเดีย ผ่านแอปฯ WeChat ซึ่งมีลักษณะการให้บริการคล้ายกับ Facebook ธุรกิจด้าน Digital Content เช่น แอปฯ WeTV ที่กำลังโด่งดังเป็นอย่างมากในกลุ่มคนไทยที่ชื่อชอบหนังและละครจีน รวมถึงยังมีธุรกิจเกมส์ออนไลน์ที่มีชื่อเสียงอย่าง PUBG และ League of Legend นอกจากนี้ยังให้บริการด้าน FinTech ผ่านทาง WeChat Pay และ QQ Wallet
Xiaomi (เสี่ยวหมี่)
เป็นบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและสมาร์ททีวี รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับไลฟ์สไตล์อื่นๆ เช่น สมาร์ทวอทช์ พาวเวอร์แบงค์ เครื่องดูดฝุ่น และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
JD.com (เจดี ดอทคอม)
ผู้นำด้าน Online Shopping ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน มีการร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจด้าน Retail รายใหญ่ในเมืองไทย เปิดตัวแพลตฟอร์ม e-Commerce ภายใต้ชื่อ JD Central โดยมีแนวทางการปฏิบัติงานที่เข้มวงด เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จะถูกส่งถึงลูกค้าจะต้องเป็นของแท้และคุณภาพดีที่สุดเท่านั้น
Great Wall Motor (เกรท วอลล์ มอเตอร์)
ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรถเอสยูวีและรถกระบะ เป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านยอดขายของแบรนด์รถเอสยูวีและรถกระบะที่ผลิตในประเทศจีนมาโดยตลอด ขณะที่คนไทยส่วนมากรู้จักเกรท วอลล์ มอเตอร์ จากรถยนต์ ORA Good Cat ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ที่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บล. แมคควอรี ยังมีแผนที่จะเพิ่มหลักทรัพย์อ้างอิงที่เป็นหุ้นฮ่องกงตัวอื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนสามารถเข้าถึงหุ้นฮ่องกงผ่านใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต
สรุปจุดเด่นของ DW อ้างอิงหุ้นฮ่องกง
- ช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงโอกาสการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง อีกทั้งยังช่วยให้สามารถลงทุนได้ในมุมมองที่เป็นทั้งขาขึ้นและขาลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุน
- ครอบคลุมหลักทรัพย์ กลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคย และอยู่ในเมกะเทรนด์ อาทิ อีคอมเมิร์ซ และยานยนต์ ได้แก่ Alibaba Tencent Meituan Xiaomi JD.com และ Great Wall Motor ทั้งนี้ บล. แมคควอรี ยังมีแผนที่จะออก DW อ้างอิงหุ้นฮ่องกงตัวอื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนสามารถเข้าถึงหุ้นฮ่องกงได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
- ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่ หากมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เดิมที่มีอยู่แล้วกับบริษัทหลักทรัพย์ใดก็ได้ ก็สามารถทำการซื้อขาย DW อ้างอิงหุ้นฮ่องกงได้ทันที
ช่องทางติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำหรับท่านที่สนใจลงทุนใน DW อ้างอิงหุ้นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง สามารถศึกษารายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ทาง
- เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ https://www.setinvestnow.com/th/dw
- หรือสอบถามโดยตรงกับผู้ออก DW บริษัทหลักทรัพย์ แมคควอรี (ประเทศไทย) จำกัด (MACQ) เบอร์ 28 ผ่านทาง Facebook Page | macquariedw28 เว็บไซต์ | www.thaidw.com Line Official Account | @thaidw และหมายเลขโทรศัพท์ | 02-694-7777
ทั้งนี้ ท่านสามารถซื้อขาย DW ได้ด้วยบัญชีซื้อขายหุ้นที่เปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ใดก็ได้
Categories: Financial Markets Update