ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ในภาพรวมอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว คือการกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคต อาทิหุ้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งบางกลุ่มธุรกิจยังไม่มีในตลาดหุ้นไทย สอดคล้องกับสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า นักลงทุนไทยมีแนวโน้มการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2564 ที่ปริมาณการลงทุนเพิ่มสูงมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี
แต่ปัจจุบัน การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศยังคงมีข้อจำกัดและความยุ่งยากในการเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเปิดบัญชีที่ไม่ได้ง่ายเหมือนการเปิดบัญชีหุ้นไทย กฎระเบียบการซื้อขายของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน การกำหนดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำที่สูง รวมถึงความยุ่งยากในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และโอนเงินระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมโยงการลงทุนในต่างประเทศผ่าน DR (Depositary Receipt) หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เสมือนการยกหุ้นต่างประเทศมาให้ซื้อขายได้ง่าย ๆ ผ่านตลาดหุ้นไทย
DR จะมีรายละเอียด ความน่าสนใจ และความแตกต่างเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรงอย่างไร สามารถติดตามได้ในบทความนี้
ทำความรู้จัก DR
DR (Depositary Receipt) หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนหุ้นต่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เสมือนการยกหุ้นต่างประเทศมาให้ซื้อขายได้ง่าย ๆ ผ่านตลาดหุ้นไทย โดยมีตัวกลางคือ ผู้ออก DR จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศ และฝากไว้กับโบรกเกอร์หรือผู้เก็บรักษาทรัพย์สินที่ต่างประเทศ จากนั้นจะออกใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นอ้างอิงที่ฝากไว้ หรือเรียกว่า DR และจดทะเบียนซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสกุลเงินบาท นักลงทุนจึงสามารถซื้อขาย DR ด้วยบัญชีซื้อขายหุ้นได้ทันที เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป แถมยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับการลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรง
เปรียบเทียบการลงทุนใน DR และการลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรง
บัญชีซื้อขาย: สามารถซื้อขาย DR ได้ทันที ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่ ด้วยบัญชีหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ใดก็ได้ ขณะที่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศจำเป็นต้องเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศเพิ่มเติม
สกุลเงินที่ใช้ซื้อขาย: สามารถซื้อขาย DR ด้วยสกุลเงินบาท ส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะต้องซื้อขายด้วยสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนจะมีภาระในการแลกเปลี่ยนเงิน และโอนเงินระหว่างประเทศ
ช่วงเวลาการซื้อขาย: สามารถซื้อขาย DR ได้ตามเวลาเปิดทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศต้องซื้อขายตามเวลาของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
ค่าธรรมเนียม: DR มีค่าธรรมเนียมการซื้อขายอัตราเดียวกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนหุ้นต่างประเทศมีค่าธรรมเนียมตามที่โบรกเกอร์กำหนด
ภาษี: ภาษีจากการซื้อขาย DR จะเหมือนการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (กำไรจากการลงทุนใน DR จะได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดียวกันกับกำไรจากการลงทุนในหุ้น) ขณะที่ภาษีของการซื้อขายหุ้นต่างประเทศจะขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ และในกรณีที่มีการขายและโอนเงินกลับภายในปีภาษี ต้องนำกำไรไปรวมเป็นรายได้พึงประเมิน
ลักษณะของ DR ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ชื่อย่อของ DR: กำหนดความยาวสูงสุดไม่เกิน 10 ตัวอักษร โดย 8 ตัวอักษรแรก คือชื่อย่อหลักทรัพย์ต่างประเทศ ส่วนตัวเลข 2 หลักต่อมาคือ หมายเลขผู้ออก DR ยกตัวอย่างเช่น UUUUUUUU99 คือ DR ของหลักทรัพย์ UUUUUUUU ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์หมายเลข 99
หลักทรัพย์ที่นำมาออกเป็น DR: ได้แก่ หุ้นสามัญหรือ ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด
ช่วงเวลาการซื้อขาย: การซื้อขาย DR ไม่มีพักเที่ยง สามารถซื้อขายได้ตั้งแต่ตลาดเปิด จนตลาดปิด
ช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคา: ช่วงของราคา (Tick Size) เหมือนหุ้นทั่วไป โดยเปลี่ยนแปลงได้สูงสุดไม่เกิน ±30% ของราคาปิดวันก่อนหน้า
การแจ้งเตือนเครื่องหมายต่าง ๆ: ผู้ออก DR จะต้องเผยแพร่ข้อมูลให้นักลงทุนทราบ เมื่อหลักทรัพย์ต่างประเทศมีการออกข่าวที่มีผลกระทบกับราคา หรือการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
DR ที่เปิดให้ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบัน
ปัจจุบันมี DR ที่จดทะเบียนและเปิดซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่
- E1VFVN3001 ออกโดยบล. บัวหลวง มีหลักทรัพย์อ้างอิงคือ E1VFVN30 ซึ่งเป็นกองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงดัชนี VN30 ซึ่งสะท้อนหุ้นชั้นนำ 30 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม
- BABA80 (เข้าใหม่ล่าสุด) ออกโดยธนาคารกรุงไทย มีการอ้างอิงหุ้นสามัญของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกด้านอีคอมเมิร์ซ คือ บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด
ผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนใน DR
นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนใน DR เสมือนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง โดยสามารถแบ่งผลตอบแทนออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
- กำไรส่วนต่างราคา (Capital gain) | หากราคาของ DR เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าต้นทุนที่ซื้อมา ก็จะได้รับกำไรจากส่วนต่างราคา แต่หากราคาเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน
- เงินปันผล (Dividend) และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ | ผู้ถือ DR มีโอกาสได้รับเงินปันผลหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากหลักทรัพย์ต่างประเทศ แต่อาจถูกหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามที่ระบุไว้ในสัญญารับฝาก DR ซึ่งผู้ลงทุนควรอ่านรายละเอียดและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน
“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” การลงทุนใน DR ก็ย่อมมีความเสี่ยงเช่นกัน ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน DR ประกอบด้วย
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อ้างอิง | หากราคาของหลักทรัพย์อ้างอิงในต่างประเทศมีความผันผวนก็จะส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ราคาของ DR ผันผวนเช่นเดียวกัน ซึ่งนักลงทุนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่อาจมีผลกระทบกับราคา การให้สิทธิประโยชน์ รวมถึงการขึ้นเครื่องหมายแจ้งเตือนต่าง ๆ ของหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านช่องทางการเผยแพร่ข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เช่นเดียวกับหุ้นทั่วไป
- ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน | เนื่องจาก DR มีการซื้อขายเป็นเงินบาท ทำให้ราคาของ DR จะเคลื่อนไหวตามราคาของหลักทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทกับค่าเงินของประเทศที่หลักทรัพย์อ้างอิงนั้น ๆ จดทะเบียนอยู่ นักลงทุนจึงควรพิจารณาความเสี่ยงจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่ไปกับการติดตามราคาของหลักทรัพย์ต่างประเทศก่อนตัดสินใจลงทุน DR
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา DR | ในบางช่วงเวลาอาจมีความต้องการซื้อหรือขาย DR มากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ราคาของ DR เมื่อเทียบกับราคาหลักทรัพย์ในต่างประเทศคลาดเคลื่อนกันมากกว่าปกติ
เงื่อนไขและค่าธรรมเนียมของการซื้อขาย DR
เงื่อนไขการส่งคำสั่งซื้อขาย DR
- ส่งคำสั่งซื้อขายเหมือนหุ้น โดยจะจับคู่คำสั่งซื้อขายตามหลักราคาและเวลาที่ดีที่สุด (Price then Time Priority)
- ขั้นต่ำการลงทุน 1 Board Lot เท่ากับ 1 DR
- ราคาสูงสุด-ต่ำสุด ไม่เกิน 30 % ของราคาปิดวันทำการก่อนหน้า
- ช่วงของราคา (Tick Size) จะเหมือนกับหุ้นทั่วไป
ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย DR ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่
- ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย หรือ ค่า Commission จะเก็บเหมือนค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นทั่วไป
- ค่าธรรมเนียมที่ผู้ออกอาจเรียกเก็บ ซึ่งจะเก็บในกรณีที่มีการจ่ายสิทธิประโยชน์ เช่น เงินปันผล หรือ เก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญารับฝาก DR ซึ่งผู้ลงทุนควรต้องอ่านและทำความเข้าใจก่อนลงทุน DR
สรุปจุดเด่นและประโยชน์ของการลงทุนใน DR
ลงทุนได้ง่าย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป | ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนไทยในการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยสามารถใช้บัญชีซื้อขายหุ้นในการซื้อขาย DR ได้ทันที แถมยังซื้อขายเป็นเงินบาท ไม่ต้องมีภาระในการแลกเปลี่ยนค่าเงินหรือโอนเงินระหว่างประเทศ
- ซื้อขายได้ทันทีผ่านบัญชีหุ้นที่เปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ใดก็ได้
- ซื้อขายเป็นเงินบาท ไม่ต้องแลกเปลี่ยนค่าเงินและโอนเงินไปต่างประเทศ
เพิ่มโอกาสลงทุนในหุ้นต่างประเทศ | เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทน พร้อมรับสิทธิประโยชน์และเงินปันผลเหมือนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง
- ซื้อแล้วเสมือนได้หุ้นต่างประเทศมาครอบครอง
- ได้รับสิทธิประโยชน์และเงินปันผลเหมือนลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง
ประหยัดภาษี | กำไรจากการลงทุน DR ได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่การลงทุนหุ้นในต่างประเทศ กรณีขายและโอนเงินกลับภายในปีภาษี ต้องนำกำไรไปรวมเป็นรายได้พึงประเมิน
แหล่งเรียนรู้ข้อมูล DR เพิ่มเติม
สำหรับท่านที่สนใจเริ่มลงทุน DR สามารถศึกษารายละเอียดของ DR เพิ่มเติม ผ่านสื่อการเรียบรู้หลากหลายรูปแบบ อาทิ บทความ วิดีโอ และหลักสูตร e-Learning ทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ https://www.setinvestnow.com/th/newdr

Categories: Investment Articles, Knowledge Resources, Special Content