Financial Markets Update

ก้าวต่อไปของไทยออยล์ (TOP) | เตรียมขายหุ้นเพิ่มทุน เสริมความแข็งแกร่งโรงกลั่นน้ำมัน พร้อมขยายพอร์ตปิโตรเคมีครบวงจร

ในปัจจุบันเกิดกระแสความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์และอุปทานของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้เกิดความท้าทายในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน ยกตัวอย่างเช่น นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ซึ่งในประเทศไทยเองก็ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุผลให้ได้ในปี พ.ศ. 2608 หรือการเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่ขับเคลื่อนไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และแนวโน้มการเติบโตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วที่ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ก็ล้วนเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมด้านพลังงานต้องเผชิญ

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) หนึ่งในผู้นำประกอบธุรกิจโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป ได้เตรียมแผนกลยุทธ์รองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปีอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Building on Our Strong Foundation โดยจะต่อยอดจากธุรกิจกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่แข็งแกร่ง ก้าวไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง พร้อมกระจายผลิตภัณฑ์ขยายตลาดไปยังภูมิภาคที่มีความต้องการสูง และกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำและลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve อาทิ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) และโครงการลงทุนธุรกิจโอเลฟิน

เพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามกลยุทธ์ดังกล่าว ไทยออยล์จึงมีแผนที่จะปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวของบริษัทฯ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยเตรียมที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเร็ว ๆ นี้ ในบทความนี้ TIF จึงจะพาไปเจาะลึกโครงสร้างธุรกิจในปัจจุบัน และแผนการขยายธุรกิจใหม่ที่จะเสริมศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของไทยออยล์พร้อมรายละเอียดของการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

เปิดศักยภาพความแข็งแกร่งของไทยออยล์ ผู้นำในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เป็นหนึ่งในผู้นำบริษัทโรงกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป โดยไทยออยล์เป็นเจ้าของ (Single-Site Complex Refinery) ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยวัดจากกําลังการผลิตของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) โดยปัจจุบันไทยออยล์มีกำลังการผลิตกว่า 275,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 22.1% ของกําลังการกลั่นทั้งหมดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีประมาณ 838,000 ตันต่อปี กําลังการผลิตสารละลายไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon Solvent) ประมาณ 141,000 ตันต่อปี กําลังการผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (LAB) ประมาณ 120,000 ตันต่อปี และมีกําลังการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Lube Base Oil) ประมาณ 267,015 ตันต่อปี

นอกเหนือจากนี้ ไทยออยล์ยังมีธุรกิจอื่นที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจโรงผลิตไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลาย ธุรกิจบริการขนส่งผลิตภัณฑ์ทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน (เอทานอล) ธุรกิจโอเลฟิน ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด เป็นต้น ณ งวดหกเดือน ปี 2565 ไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 258,397 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิกว่า 32,510 ล้านบาท

สามารถแบ่งธุรกิจหลักของไทยออยล์ออกได้เป็น 8 กลุ่ม ดังนี้

(1) ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน

ไทยออยล์เป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารจัดการโรงกลั่นน้ำมันศรีราชา ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีความซับซ้อนมากที่สุดในภูมิภาค โดยมีกำลังการผลิตกว่า 275,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 22.1% ของกําลังการกลั่นทั้งหมดภายในประเทศไทย งวดหกเดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ไทยออยล์มีรายได้จำนวน 279,513 ล้านบาท จากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน (ก่อนหักยอดขายระหว่างกันภายในกลุ่ม)

(2) ธุรกิจอะโรเมติกส์และ LAB

ไทยออยล์เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (อะโรเมติกส์) ได้แก่ สารพาราไซลีน และสารเบนซีน โทลูอีน ผ่าน TPX ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยออยล์ถือหุ้นทั้งหมด ขณะเดียวกัน TPX ก็เข้าไปถือหุ้นใน LABIX ซึ่งเป็นผู้ผลิตสาร LAB (Linear Alkyl Benzene) ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตผงซักฟอกและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดยงวดหกเดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ไทยออยล์มีรายได้จากธุรกิจอะโรเมติกส์และ LAB จำนวน 45,197 ล้านบาท (ก่อนหักยอดขายระหว่างกันภายในกลุ่ม) คิดเป็นสัดส่วน 12.6% ของรายได้ทั้งบริษัทฯ

ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ถูกใช้ในกระบวนการปิโตรเคมีขั้นปลายหลากหลาย เช่น การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น เครื่องใช้ในครัวเรือน สิ่งทอ ขวดพลาสติก สารยึดติด ลามิเนต ท่อ สี ยาฆ่าแมลงและกาว

(3) ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน

ไทยออยล์เป็นเจ้าของและดำเนินธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานผ่าน TLB ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยออยล์ถือหุ้นทั้งหมด ณ 30 มิถุนายน 2565 มีกําลังการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ประมาณ 267,015 ตันต่อปี และมีรายได้ 15,209 ล้านบาท (ก่อนหักยอดขายระหว่างกันภายในกลุ่ม) คิดเป็นสัดส่วน 4.2% ของรายได้ทั้งบริษัทฯ

รายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้มาจากการขายน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและผลิตภัณฑ์พิเศษอื่น เช่น น้ำมันยางสะอาด และผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่นที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะยางมะตอย เป็นหลัก

(4) ธุรกิจไฟฟ้า

ณ 30 มิถุนายน 2565 ธุรกิจโรงผลิตไฟฟ้าที่ไทยออยล์ถือหุ้น 100% ผ่านบริษัท TOP SPP มีกําลังการผลิตไฟฟ้ารวม 239 เมกะวัตต์และไอน้ำ 497 ตันต่อชั่วโมง โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโรงกลั่นและโรงงาน นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังมีธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินงานโดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) โดยงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ธุรกิจโรงผลิตไฟฟ้าสร้างรายได้จำนวน 5,119 ล้านบาท (ก่อนหักยอดขายระหว่างกันภายในกลุ่ม) คิดเป็นสัดส่วน 1.4% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งรายได้จากธุรกิจโรงผลิตกระแสไฟฟ้าเกิดจากการขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าเป็นหลัก

(5) ธุรกิจสารทำละลาย

ไทยออยล์ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจําหน่ายสารทำละลายไฮโดรคาร์บอน สารทำละลายเคมี และสารเคมีอื่น ๆ ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ผ่าน TOS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยออยล์เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยงวดหกเดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ไทยออยล์มีรายได้จากธุรกิจสารทำละลายจำนวน 10,285 ล้านบาท (ก่อนหักยอดขายระหว่างกันภายในกลุ่ม) คิดเป็นสัดส่วน 2.9% ของรายได้ทั้งหมด โดยรายได้จากธุรกิจสารทำละลายมาจากการขายผลิตภัณฑ์สารทําละลายเป็นหลัก

(6) ธุรกิจเอทานอล

ไทยออยล์มีกลยุทธ์ด้านพลังงานทดแทนโดยการลงทุนในธุรกิจผลิตเอทานอล เพื่อรองรับนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน โดยถือหุ้น 100% ผ่านบริษัทย่อย TET โดยงวดหกเดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ไทยออยล์ มีรายได้จากธุรกิจผลิตเอทานอลจำนวน 766 ล้านบาท (ก่อนหักยอดขายระหว่างกันภายในกลุ่ม) คิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของรายได้ทั้งบริษัทฯ

(7) ธุรกิจอื่น ๆ

ไทยออยล์มีธุรกิจอื่น ๆ ที่เปิดดำเนินการผ่านบริษัทย่อยที่ไทยออยล์เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด เช่น บริษัท ไทยออยล์ เอนเนอร์ยี่ เซอร์วิส จำกัด (TES) ดำเนินธุรกิจการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของไทยออยล์ และ บริษัท ไทยออยล์ ศูนย์บริหารการเงิน จำกัด (TTC) ดำเนินธุรกิจบริหารเงินตราต่างประเทศและหนี้สิน โดยงวดหกเดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ไทยออยล์มีรายได้ 3,192 ล้านบาท จากธุรกิจเหล่านี้ (ก่อนหักยอดขายและค่าบริการระหว่างกันภายในกลุ่ม) คิดเป็นสัดส่วน 0.9% ของรายได้ทั้งหมด

(8) ธุรกิจโอเลฟิน

ในเดือนกรกฎาคม 2564 ไทยออยล์ได้เข้าลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) มูลค่า 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น CAP ประมาณ 15% โดย CAP เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนําของอินโดนีเซียที่มีโครงสร้างโรงงานและระบบการผลิตของหน่วยผลิตต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างครบวงจร นอกจากนี้ CAP ยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย การเข้าถือหุ้น CAP จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งรวมถึงการขยายตลาดในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูง รวมทั้งได้ประโยชน์จากความร่วมมือทางธุรกิจกับ CAP

เจาะรายละเอียดการลงทุนโครงการพลังงานสะอาดและธุรกิจปิโตรเคมี

หนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ไทยออยล์จะดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้บริษัทฯ คือการเข้าลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ภายใต้โครงการที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ได้แก่

(1) โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) เพื่อรองรับการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และเพิ่มประสิทธิภาพการกลั่นให้สามารถรองรับการผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Product) ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

โครงการ CFP เริ่มก่อสร้างในปี 2561 โครงการนี้มีความสำคัญต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยออยล์ เนื่องจากเป็นการสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ที่มีกำลังการผลิตสูงขึ้นและเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการกลั่นเพิ่มขึ้น 45% จาก 275,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้มีความสามารถในการรับน้ำมันดิบประเภทต่าง ๆ หลายประเภทที่มีต้นทุนต่ำกว่า ตลอดจนเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของไทยออยล์ โดยจะเป็นการเปลี่ยนจากน้ำมันเตาที่ส่วนมากจะใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซล มาตรฐาน Euro V ที่มีราคาสูงกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้วัตถุดิบสำหรับการผลิตปิโตรเคมีสายโอเลฟินอีกด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรและยกระดับความหลากหลายและคุณภาพของการผลิต ณ 30 มิถุนายน 2565 โครงการ CFP มีความคืบหน้ามากกว่า 86% ทั้งนี้ โครงการ CFP จะสามารถทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 และสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบในปี 2568

(2) โครงการลงทุนธุรกิจโอเลฟิน ในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำของประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้ไทยออยล์สามารถรุกเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินได้อย่างรวดเร็ว และขยายความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ทางธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการสูง ซึ่งจะทำให้ไทยออยล์ได้รับประโยชน์จากการต่อยอด Value Chain ระหว่างโครงการ CFP และ CAP เนื่องจากสามารถส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นของโครงการ CFP เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ CAP ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งความสามารถทางการแข่งขัน และเพิ่มอัตราการทำกำไรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในปี 2564 ไทยออยล์ได้เข้าลงทุนใน CAP ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 15% จากการเข้าลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟิน ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีของไทยออยล์ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สร้างโอกาสในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำที่มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายตลาดไปสู่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในระดับสูง ปัจจุบัน CAP อยู่ระหว่างพิจารณาขยายการลงทุนในโครงการ CAP2 ภายในปีนื้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัว โดยคาดการณ์ว่าโครงการ CAP2 จะแล้วเสร็จในปี 2569

การเข้าลงทุนในครั้งนี้จะสร้างผลประโยชน์ในทางการเงินให้กับไทยออยล์ได้ในทันที จากรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อีกทั้งเมื่อการก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ (CAP2) แล้วเสร็จ คาดการณ์ว่าไทยออยล์จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมจากส่วนแบ่งกำไรต่อปีที่เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว

โครงการพลังงานสะอาด (CFP) และโครงการลงทุนธุรกิจโอเลฟินใน CAP ถือเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ระยะยาวของไทยออยล์ที่จะช่วยต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจหลักด้านการกลั่น ไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้โครงสร้างธุรกิจของไทยออยล์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยไทยออยล์ตั้งเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนของกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่ (New S-Curve) อีก 10% ภายในปี 2573

สรุปรายละเอียดการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน

แผนปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งระยะยาว

ไทยออยล์มีแผนปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อให้พร้อมรองรับการขยายธุรกิจตามกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น จำนวนไม่เกิน 275,120,000 หุ้น โดยจะมีการจัดสรรหุ้นออกเป็น

(1) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น

(2) ไทยออยล์อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ โดยบริษัทฯ จะพิจารณาการจัดสรรให้เหมาะสมกับความต้องการระดมทุนของบริษัทฯ

วัตถุประสงค์การใช้เงิน

(1) ชำระคืนเงินกู้ยืมที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น จากการเข้าลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุน ให้พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคต

(2) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการประกอบธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการในการใช้เงินลงทุนหมุนเวียนสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต

สำหรับนักลงทุนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ในงาน Retail investors roadshow ซึ่งไทยออยล์จะจัด Facebook live ในวันพุธที่ 7 ก.ย. 65 เวลา 15.00-16.30 ผ่านเพจ Thaioil https://www.facebook.com/ThaiOilPCL และ SCB Securities https://wwww.facebook.com/scbsecurities.thailand