หลายท่านที่เคยไปซูเปอร์มาร์เก็ต น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับแบรนด์ “เบทาโกร” หรือถ้าให้นึกถึงแบรนด์เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ที่เน้นคุณภาพและความพรีเมียม “S-Pure” ก็น่าจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่หลายท่านนึกถึงและน่าจะเคยซื้อมาบริโภค ทั้งสองแบรนด์ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์จาก บมจ. เบทาโกร หรือ BTG ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ “เบทาโกร” ไม่ได้มีเพียงแค่เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ หรืออาหารแปรรูปเท่านั้น แต่ครอบคลุมทั้งธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การจำหน่ายพันธุ์สัตว์ การทำฟาร์ม การชำแหละและการแปรรูปเนื้อสัตว์ รวมทั้งโรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ยังมีร้านค้าที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายของตัวเอง เช่น Betagro Shop และ Betagro Deli เรียกได้ว่าครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของไทย และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเร็ว ๆ นี้ “เบทาโกร” เตรียมที่จะระดมทุนผ่านการทำ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีแผนจะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปใช้เป็นเงินทุนในการเข้าซื้อ หรือก่อสร้างฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ใช้ปรับโครงสร้างเงินทุน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
ในบทความนี้ TIF จะพาไปเจาะลึกภาพรวมธุรกิจรวมถึงรายละเอียดและความน่าสนใจของเบทาโกร ทั้งในด้านโครงสร้างธุรกิจและผลการดำเนินงาน จุดแข็งและศักยภาพในการแข่งขัน กลยุทธ์ในการสร้างการเติบโต รวมถึงรายละเอียดของการ IPO เป็นข้อมูลให้ทุกท่านใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุน
ภาพรวมธุรกิจของเบทาโกร
บมจ. เบทาโกร หรือ BTG ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ด้วยการทำธุรกิจในรูปแบบ Vertically Integrated Business Model ซึ่งครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ (Value Chain) ประกอบด้วย
ธุรกิจต้นน้ำ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสัตว์ อาหารสัตว์ การเพาะเลี้ยงและจำหน่ายพันธุ์สัตว์ การทำฟาร์มหมูและไก่
ธุรกิจกลางน้ำ ได้แก่ การชำแหละและแปรรูปเนื้อสัตว์ โรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร
ธุรกิจปลายน้ำ ได้แก่ การขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ฮ่องกง และ เอเชีย
นอกจากนี้ เบทาโกรยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัทเอง ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เบทาโกรมีแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในตลาด ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า อาทิ
- ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อนามัย เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “Betagro” และ “S-Pure”
- ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเกรดพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ “ITOHAM”
- ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ภายใต้แบรนด์ “Betagro” “Balance” และ “MASTER”
- ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ ภายใต้แบรนด์ “Better Pharma” และ “Nexgen”
- ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ภายใต้แบรนด์ “Perfecta” “DOG n joy” และ “CAT n joy”
นอกจากนี้ยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทเอง ซึ่งได้แก่ Betagro Shop สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2B และ Betagro Deli สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2C
โครงสร้างรายได้ของเบทาโกร
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เบทาโกรมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวมกว่า 53,284.6 ล้านบาท โดยสามารถแบ่งตามกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้
- กลุ่มธุรกิจเกษตร: ดำเนินธุรกิจผ่านกลยุทธ์ Agro Total Solution ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรอย่างครบวงจร สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยมีแบรนด์สินค้าสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ อีกทั้งยังมีการจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือฟาร์มที่หลากหลาย และการให้บริการห้องปฏิบัติการ มีรายได้ 13,099.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.6% ของรายได้รวม
- กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน: ครอบคลุมตั้งแต่การทำฟาร์มปศุสัตว์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการผลิตและจำหน่ายเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ปลา ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและพร้อมรับประทาน เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชที่มีโอกาสเติบโตสูง มีรายได้ 36,448.70 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 68.4% ของรายได้รวม
- กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ: ประกอบธุรกิจในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสัตว์ อุปกรณ์ฟาร์มและผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงสุกร สัตว์ปีก ไข่ไก่ เนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารแปรรูป มีรายได้ 2,770.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของรายได้รวม
- กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง: ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง ขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง มีรายได้ 949.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.8% ของรายได้รวม
ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2562 – 2564 เบทาโกรมีรายได้รวม 75,188.4 ล้านบาท 80,631.5 ล้านบาท และ 86,743.7 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2562 – 2564 เบทาโกรมีรายได้เพิ่มขึ้น คิดเป็น CAGR 7.4% การเติบโตของรายได้ดังกล่าวเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของจากกลุ่มธุรกิจเกษตร กลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อการบริโภค กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผลิตภัณฑ์พลอยได้ และอาหารอื่น ๆ กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง
โดยการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายในกลุ่มธุรกิจเกษตรเป็นไปตามกลยุทธ์ “การเป็นผู้ให้บริการกลุ่มธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร” ขณะที่การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายในกลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อการบริโภค กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผลิตภัณฑ์พลอยได้ และกลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง เป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Product)
ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 เบทาโกรมีรายได้รวม 54,193.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 26.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การเติบโตของรายได้ดังกล่าวเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของทุกกลุ่มธุรกิจ (ยกเว้นกลุ่มธุรกิจอื่น) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายสินค้า ตามต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาด
ในส่วนของกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิ ในปี 2562 – 2564 เบทาโกรมีกำไร 1,267.5 ล้านบาท (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 1.7%) 2,341.0 ล้านบาท (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 2.9%) และ 839.0 ล้านบาท (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 1.0%) ตามลำดับ โดยการลดลงของอัตรากำไรในปี 2564 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 เบทาโกรมีกำไรสุทธิ 3,892.5 ล้านบาท (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 7.2%) และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 233.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
จุดแข็งและศักยภาพในการแข่งขันของเบทาโกร
- บริษัทอาหารระดับสากล
- มีผลิตภัณฑ์และแบรนด์หลากหลายอันเป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
- ผู้นำในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร คุณภาพ และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-security) ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกับพันธมิตรชั้นนำในต่างประเทศ
- มุ่งเน้นไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมและกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง
- ระบบและช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
- ความสามารถในการสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมผ่านระบบการบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย (Channel Management) ที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกบนระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี
- ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย ทั้งช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทฯ รวมไปถึงเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง
- ศักยภาพการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในและต่างประเทศ
- ขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าสูงและการขยายกำลังการผลิต
- การขยายธุรกิจต่างประเทศทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตส่งออกอาหารและการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ
- มุ่งหน้าสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ (New S-Curve)
- มุ่งสร้างโอการการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆที่เกี่ยวเนื่องจากศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนระบบเทคโนโลยีชั้นนำ
- ร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อต่อยอดโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด และรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งวันนี้และอนาคต เช่น ธุรกิจโปรตีนทางเลือกจากพืช ภายใต้แบรนด์ Meatly! และ Kerry Cool เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ
- กระบวนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
- รูปแบบธุรกิจที่ไม่เป็นการลงทุนเป็นเจ้าของสินทรัพย์ (Asset-light investment model)
- มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในทีมงานและบุคลากร การจัดซื้อจัดจ้าง ตลอด ทั้งห่วงโซ่อุปทาน
- คณะผู้บริหารและคณะกรรมการฯ ที่มีวิสัยทัศน์และมากด้วยประสบการณ์
- พร้อมต่อยอดสร้างโอกาสเติบโตจากทั้งในและต่างประเทศ
- ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เพื่อส่งมอบ “ชีวิตที่ยั่งยืน” แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
กลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตของเบทาโกร
- พัฒนาธุรกิจในไทยให้ดียิ่งขึ้น ด้วยความเป็นเลิศทางด้านห่วงโซ่อุปทาน และนวัตกรรมในการจัดจำหน่าย
- มุ่งเน้นธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อรองรับความต้องการในผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค
- ขยายส่วนแบ่งทางการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อหมู ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เบทาโกรมีความเชี่ยวชาญและให้อัตรากำไรสูง
- ขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เดิม เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนในโรงงานผลิตแห่งใหม่และการปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่เดิม โดยให้ความสำคัญต่อการเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain Resilience) เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจ และสร้างโอกาสจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการดูแลในเรื่อง Biosecurity และปศุสัตว์
- ขับเคลื่อนการใช้ระบบดิจิทัล เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและประสบการณ์ของลูกค้า
- ใช้ต้นทุนอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในด้านต้นทุน เบทาโกรมีแผนที่จะลดต้นทุนการจัดหาวัตถุดิบด้วยการใช้และพัฒนาระบบการดำเนินงานภายในองค์กรสองรูปแบบได้แก่ Price Forecasting Model ซึ่งช่วยการพยากรณ์ราคาของวัตถุดิบ และ Least Cost Simulation ทำหน้าที่คำนวณการใช้และการจัดสรรวัตถุดิบอย่างเหมาะสมที่สุด
- ขยายธุรกิจกลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีนโดยเน้นที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัท
- ขยายกลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีนโดยเน้นที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งสามารถสร้างผลกำไรได้สูงกว่าและมีความผันผวนด้านราคาต่ำกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง ผลิตภัณฑ์อาหารหมักเครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน
- เพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยการขยายและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางผู้ให้บริการด้านอาหาร ช่องทางธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่ และช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัท
- เร่งพัฒนาความสามารถทางด้านนวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
- ขยายกลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างผลกำไรสูงสุดในแง่ของอัตรากำไรจากการดำเนินงาน
- ขยายแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ โดยเน้นที่การพัฒนาและการลงทุนในด้าน Food-Tech, Agri-Tech และ Restaurant-Tech
- ขยายธุรกิจต่างประเทศผ่านการส่งออกอาหาร และการทำธุรกิจในภูมิภาค
- ขยายการประกอบธุรกิจในประเทศกัมพูชา ประเทศลาว และประเทศเมียนมา และการขยายไปสู่ตลาดใหม่ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศจีน และประเทศเวียดนาม
- ขยายการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศที่สำคัญ เช่น ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง
- เพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ในตลาดต่างประเทศ เพิ่มยอดขายผ่านการขายส่ง และเครือข่ายผู้จัดจำหน่าย
สรุปรายละเอียดการเสนอขายหุ้น IPO และวัตถุประสงค์การระดมทุน
BTG มีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 500 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัท กรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
วัตถุประสงค์การระดมทุน
- ใช้เป็นเงินทุนในการเข้าซื้อ และ/หรือ ก่อสร้างฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานของบริษัท แบ่งเป็น
- ลงทุนในโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม โรงชำแหละสัตว์ โรงงานแปรรูปอาหารและเนื้อสัตว์ รวมถึงการผลิตไข่ไก่และโปรตีนทางเลือกในไทย
- ลงทุนในโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม และโรงชำแหละสัตว์ในกัมพูชา ลาว และเมียนมา
- ลงทุนในโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง
- ลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Facilities)
- ใช้ปรับโครงสร้างเงินทุน โดยการชำระหนี้สินระยะสั้นและระยะยาว ให้กับสถาบันการเงินต่างๆ
- ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานของบริษัท
สำหรับท่านที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือชี้ชวนทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=427025&lang=th
Categories: Financial Markets Update