Financial Markets Update

สรุปประเด็นสัมมนา Thailand Focus 2022 | ชูศักยภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย สร้างโอกาสใหม่เชื่อมโยงการลงทุน

Thailand Focus จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในทุกปี เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนของประเทศไทย และเพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนทั่วโลก โดยในปีนี้ Thailand Focus 2022 ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “THE NEW HOPE” เพื่อนำเสนอศักยภาพของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยที่สามารถฟื้นตัวได้ด้วยความยืดหยุ่นและเอาชนะความท้าทายต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถต่อยอดพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับโอกาสใหม่ๆ  ตอกย้ำถึงศักยภาพของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยที่มีความความโดดเด่นและน่าสนใจ สำหรับการลงทุนในระยะยาว

Thailand Focus 2022 มีเนื้อหาสัมมนาที่หลากหลายประเด็นทั้งในด้านเศรษฐกิจและนโยบายการเงินหลังวิกฤติโควิด-19 จากมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม จากมุมมองของผู้บริหารของบริษัทชั้นนำ

TIF สรุปเนื้อหาฉบับย่อจากทุกสัมมนาในงาน Thailand Focus 2022 ให้ติดตามได้ในบทความนี้ หากต้องการรับชมเนื้อหาย้อนหลังฉบับเต็มเพิ่มเติม สามารถเข้าชมได้ผ่านทาง https://www.set.or.th/thailandfocus/2022/

ภาพรวมความสำเร็จ ตอกย้ำศักยภาพขับเคลื่อนตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อ

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “Thailand Focus 2022 : THE NEW HOPE เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สื่อสารความน่าสนใจของประเทศไทย และเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลก โดยงานปีนี้จัดงานในรูปแบบ Hybrid โดยมีผู้ลงทุนสถาบันที่เดินทางมาร่วมงานในประเทศไทยและที่รับฟังข้อมูลผ่าน virtual conference เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงผู้ลงทุนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนได้ในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ ขณะเดียวกันยังตอบสนองความต้องการพบปะแบบส่วนตัวได้ โดยมีผู้ลงทุนจากกลุ่มประเทศหลัก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และ สวีเดน โดยผู้ลงทุนสถาบันให้ความสนใจในอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเป็นหัวหอกขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาว

1. พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังเปิดประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน | Thailand’s Economic Reopening and Enhancing Competitive Advantage
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ดังนี้

  • เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ปรับตัวและกำลังฟื้นตัวหลังจากวิกฤติโรคโควิด 19 จากการเปิดประเทศอีกครั้ง ผ่านโครงการ Phuket Sandbox และการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งหมดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
  • เศรษฐกิจของไทย ได้รับผลกระทบหนักมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา จากวิกฤติโรคโควิด และความไม่สงบทางด้านการเมือง ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในปีนี้ โดยตั้งเป้าจีดีพีไว้ที่ 3.5%
  • กลุ่มคนรายได้น้อยคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านราคาแก๊สหุงต้ม ก๊าซเอ็นจีวี และน้ำมันดีเซล รวมถึงการลดราคาค่าไฟฟ้า ในส่วนของภาคธุรกิจ ก็มีมาตรการช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ ประนอมหนี้ การออกเงินกู้พิเศษ เป็นต้น
  • ในอนาคต หลังจากวิกฤติโควิด ประเทศไทยจะมุ่งเป้าไปที่การปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2065
2. นโยบายการเงินสู่การฟื้นตัวอย่างสมดุล | Normalizing Policy to Ensure a Smooth Take-off
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินหลังวิกฤติโควิด-19 สรุปดังได้นี้

  • การดำเนินนโยบายการเงินจะทยอยปรับเข้าสู่ภาวะปกติ สอดรับกับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนและต่อเนื่องหลังจากวิกฤติโควิด 19 จากการใช้จ่ายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ช้าไป และตั้งแต่ต้นปียังมีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าไทยสุทธิ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไปจะทยอยปรับกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงิน และสมดุลกับความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น โดยเน้นให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องไม่สะดุด ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจซึ่งมีความแตกต่างกัน
  • การปรับทิศทางนโยบายการเงินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุด การประชุมวันที่ 10 ส.ค. 65 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 3%
  • ข้อกังวลความเสี่ยงเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศ ที่จะส่งผลต่อเงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า ไม่ได้ให้น้ำหนักเป็นความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเป็นหลัก ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี ยังมีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าไทยสุทธิ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมากที่สุด และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว
3. สร้างโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทย | Strengthen Thailand Investment Opportunities in Strategic industries
ดร. รัชนี วัฒนวิศิษฏพร
ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์การลงทุนในไทย สรุปได้ดังนี้

  • ในปี 2564 อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก คือกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า กลุ่มการแพทย์ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มอุตสากรรมเกษตร และกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์
  • การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ประเทศที่มีการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ตามลำดับ
  • รัฐบาลทำงานอย่างหนักในการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และพยายามดึงดูดผู้ลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเพิ่มมาตรการและข้อเสนอจูงใจต่างๆ ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค
  • นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ในแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่พยายามนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • รัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าเราจะผลิตรถไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเองได้ โดยออกนโยบาย 30@30 คือการที่สามารถผลิตรถไฟฟ้าในประเทศได้ 30% ภายในปี 2030 และทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตรถไฟฟ้าของโลก
วิวรรธน์ เหมมณฑารพ
รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กล่าวถึงความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทยจากวิกฤติโควิด สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง จีน สหรัฐอเมริกาและไต้หวัน สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน สรุปได้ดังนี้

  • ไม่เพียงแค่โรคโควิดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ทั่วโลกยังเผชิญกับปัญหาการติดขัดด้านการค้าดิจิตอล สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการขาดตลาดของชิพเซมิคอนดักเตอร์ในขณะนี้
  • การเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะมาจากสามอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคบริการคิดเป็น 59% ภาคอุตสาหกรรม 32% และภาคเกษตรกรรม 9% ของจีดีพีตามลำดับ โดยทางสภาอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ประสานกับภาคเกษตรกรรม เพื่อทำให้เป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและนับเป็น 40% ของจีดีพี โดยเรียกรวมว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร
  • อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงปี 2563-2564 ดังนั้นประเทศไทยจะต้องปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้เน้นไปทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวให้มากขึ้นเพื่อลดปัญหาการว่างงานอย่างยั่งยืน
ธนพล ศิริธนชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด

ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย

พูดถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย รวมถึงโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทย สรุปได้ดังนี้

  • ในภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง ทำให้ตลาดกลุ่มที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง แต่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่
  • สมาร์ทแวร์เฮ้าส์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น
  • ในอนาคตภาคโลจิสติกส์และภาคอุตสาหกรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อมีการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น การซื้อสินค้า สั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก ทำให้รูปแบบของการผลิต ระบบขนส่งจากโรงงานไปยังคลังสินค้าเปลี่ยนไป คลังสินค้าในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงโรงเก็บของ แต่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้า จัดสรรสินค้า รวมถึงจัดระบบการขนส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อโดยตรงอีกด้วย
  • ประเทศไทยต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมกิจการอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันซึ่งจะสูงขึ้นอีกในอนาคต โดยต้องมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการใช้หุ่นยนต์มาช่วยสร้างศักยภาพให้กับคลังสินค้าเหล่านี้ รวมถึงการเพิ่มสวัสดิการที่ดีขึ้นให้กับแรงงานที่ทำงานภาคอุตสาหกรรมนี้ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
4. เดินหน้ากรุงเทพ…สร้างบริบทใหม่ประเทศไทย | Reopening Bangkok
ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

กล่าวถึงแนวทางการเปิดกรุงเทพ และการพัฒนากรุงเทพให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยสำหรับทุกคน สรุปได้ดังนี้

  • กรุงเทพพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวและธุรกิจจากทั่วโลก จากสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมทั้งการครองเตียง และยารักษา สามารถรองรับได้หากมีการแพร่ระบาด ขณะที่คนกรุงเทพมีอัตราการรับวัคซีนสูง
  • กรุงเทพมีจุดเด่นคือความแตกต่างที่หลากหลายสังคมวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ควรจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เช่น กฎหมายและระเบียบที่เป็นข้อจำกัดต่อการทำธุรกิจ การคอร์รัปชัน ความสามารถภาษาอังกฤษ และทักษะแห่งอนาคต  
  • กรุงเทพติดอันดับ 1 เมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก ขณะที่ติดอันดับ 98 เมืองคุณภาพชีวิตที่ดี สะท้อนว่ากรุงเทพเหมาะสำหรับการพำนักระยะสั้น จึงได้วางเป้าหมายว่าจะทำให้กรุงเทพให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยสำหรับทุกคน ผ่าน 9 แนวทาง ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย การเดินทาง การจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ 
  • การเปิดกรุงเทพ ยังหมายถึงความโปร่งใสด้านข้อมูลข่าวสาร เช่น การเปิดเผยข้อมูลงบประมาณในเว็บไซต์ และการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ เข้ามาแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพ สามารถเพิ่มประสิทธิการในการทำงานโดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม และยังสามารถเพิ่มความโปร่งใสแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ด้วย
5. พลวัตการเติบโตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารของประเทศไทยในเวทีโลก | The Dynamic Growth in the Global Food Tech Industry
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

พูดถึงมุมมองของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมากในอุตสาหกรรมอาหาร ทางเดียวที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้คือการใช้เทคโนโลยี ยกตัวอย่างโรงงานของ CP ได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาประยุกต์ใช้ เช่น ฟาร์มไก่ มีการใช้กล้อง และไมโครโฟน เพื่อติดตามสุขภาพของไก่

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

พูดถึงมุมมองของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของเบทาโกร ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี IoT การใช้หุ่นยนต์ โดรน และไบโอเทคโนโลยีในการเกษตร ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเทรนด์ในอนาคต ซึ่งได้แก่ โปรตีนทางเลือก อาหารเสริม อีคอมเมิร์ซและความปลอดภัยทางด้านอาหาร

วิเวก ดาวัน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารว่า เทรนด์ด้านสุขภาพและอาหารทั่วโลก ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ และบริษัทใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ทำมาจากพืช หรือวีแกน ที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก บริษัทที่ผลิตอาหารต่าง ๆ ก็เริ่มหันมาผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และยารักษาโรค เพิ่มมากขึ้น

6. ประเทศไทย…ที่หมายเพื่อการใช้ชีวิต | Thailand-Destination of Living
ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร
รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

พูดถึงภาพรวมและการปรับตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงการแพร่ระบาดโควิด สรุปได้ดังนี้

  • ภาคการท่องเที่ยวไทยมุ่งเน้นปรับตัวสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน 3 R ซึ่งได้แก่ Reopen Recovery Resilient
  • ไตรมาสที่ 3/2021 ไทยเริ่มเปิดประเทศนำร่องด้วย Phuket Sandbox ซึ่งยังต้องสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสาธารณสุข 
  • ไตรมาส 4/2021 เป็นต้นมา ประเทศไทยเดินหน้าเปิดประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 10 ล้านคน และ 20 ล้านคนในปี 2023 คาดว่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 80% ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด และในปี 2024 จะมีรายได้ 3 ล้านล้านบาท เท่ากับก่อนสถานการณ์โควิด
ดร.อธิป อัศวานันท์
ผู้อำนวยการ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยีในไทยดังนี้

  • การลงทุนด้านเทคโนโลยีในไทยชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจาก 14% ในปี 2015 เหลือเพียง 3% ในปี 2021
  • สาเหตุเกิดจากผู้ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพมักจะจดทะเบียนในประเทศอื่น เนื่องจากกฎระเบียบที่เป็นมิตรกว่า เช่น การยกเว้นภาษี Capital Gain Tax  และปัจจัยด้านทักษะดิจิทัลของคนไทย
  • อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gain Tax และออกวีซ่าระยะยาวให้กับ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มมั่งคั่ง กลุ่มเกษียณ กลุ่มคนทำงานในไทยให้บริษัทต่างชาติ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานให้บริษัทไทย ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยดึงดูดผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น
แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ
ประธานกรรมการบริหาร และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

พูดถึงมุมมองและโอกาสของประเทศไทยต่อการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย ดังนี้

  • ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในปี 2020 ธุรกิจนี้สร้างรายได้ 600 ล้านดอลล่าร์ เป็นอันดับ 3 เป็นรองเพียง สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีใต้ เท่านั้น
  • Global Wellness Institute คาดว่าตลาดการดูแลสุขภาพทั่วโลก จะเติบโตก้าวกระโดด เฉลี่ยปีละ 9.9 % จนมีมูลค่า 7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2025 จาก 4.9 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐในช่วงก่อนโควิดระบาด
  • จึงเป็นโอกาสของไทยมีจุดแข็งทั้งนโยบายรัฐบาลสนับสนุนศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย อัตราค่ารักษาที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่งถึง 40-70% โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และ บุคคลากรการแพทย์มืออาชีพ  รวมถึงอัธยาศัยของคนไทย และ แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
พีระพงศ์ จรูญเอก
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

พูดถึงกลยุทธ์และการปรับตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดังนี้

  • การแพร่ระบาดโควิดทำให้ผู้คนและธุรกิจปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตการทำงานและไลฟ์สไตล์อยู่กับบ้าน
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงวางกลยุทธ์ให้เข้ากับกระแส WFH อาทิ กลุ่ม Digital NoMad รวมทั้งเทรนด์สมาร์ทซิตี้ และการใช้ชีวิตวัยเกษียณ
  • ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งอาหาร ค่าครองชีพ อสังหาริมทรัพย์คุ้มค่า การแพทย์ที่มีคุณภาพ เชื่อว่าประเทศไทยสามารถชูจุดขาย การเป็นบ้านของคนวัยเกษียณ หรือ บ้านหลังที่สองของคนทั่วโลกได้
7. ก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม | Delivery Sustainable Growth with Innovation
สารัชถ์ รัตนาวะดี
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon) ของประเทศไทย จะต้องขับเคลื่อนไปใน 4 ทิศทางซึ่งได้แก่

  1. ต้องเร่งเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน
  2. จำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของผู้ผลิตรายใหญ่
  3. ให้ทุนสนับสนุนเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน
  4. รับรองมาตรฐานการปล่อยคาร์บอน

ขณะที่ธุรกิจของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ปัจจุบันมุ่งเน้นการใช้แหล่งพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากเดิมที่มีการใช้พลังงานจากถ่านหิน และขณะเดียวกันก็กำลังขยายไปใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ “BCP 316 NET” ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์  (Zero Carbon) ได้ตามเป้าหมาย โดยประกอบด้วย

  • B: Breakthrough Performance คือการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพและขั้นตอนการผลิต ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 30%
  • C: Conserving Nature and Society คือการอนุรักษ์ธรรมชาติและสังคม สามารถทำได้โดยการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการปลูกป่าทดแทน ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 10%
  • P: Proactive Business Growth and Transition คือการเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 60%
วิชาญ จิตร์ภักดี
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงหลักดำเนินธุรกิจของ SCG ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนตามแนวทาง ESG ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Zero Carbon ยกตัวอย่างเช่น

  • การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
  • การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อให้สังคมมีความเท่าเทียมมากขึ้น ผ่านการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มทักษะการทำงาน หรือการส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
  • นอกจากนี้ SCG ยังใช้ยุทธศาสตร์ “โอบกอดความร่วมมือ (embrace collaboration) ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อใจ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน