Financial Markets Update

4 ขั้นตอนต้องรู้ สู่วัน First Trading Day

ในปัจจุบันการแข่งขันกันในโลกธุรกิจมีแนวโน้มที่สูงขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและปัจจัยต่าง ๆ ทำให้กิจการต้องเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเอง ธุรกิจที่ต้องการการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีทางเลือกในการสร้างการเติบโตได้หลายช่องทางรวมถึงการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

IPO (Initial Public Offering) คือ การเสนอขายหลักทรัพย์แก่นักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ระบุเอาไว้ในหนังสือชี้ชวนการลงทุน ที่บริษัทนั้น ๆ ร่วมกับ ที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องจัดทำขึ้น เพื่อยื่นขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ก่อนที่จะจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเป็นหุ้นที่เราเทรดกันอย่างในทุกวันนี้ โดยเราเรียกการเสนอขาย IPO ว่าเป็นการซื้อขายในตลาดแรก (ซื้อขายระหว่างเจ้าของเดิมและนักลงทุน) และเรียกการซื้อขายในระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าการซื้อขายในตลาดรอง (ซื้อขายระหว่างนักลงทุนด้วยกัน)

แต่ก่อนที่บริษัทจะกลายมาเป็นหุ้น IPO นั้นจะต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง เพื่อให้ผ่านคุณสมบัติการเป็นบริษัทจดทะเบียน เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างทางธุรกิจที่ชัดเจน ไม่มีความขัดแย้งของผลประโยชน์ ปรับโครงสร้างทางบัญชี จัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี โครงสร้างการบริหารงานที่ Check & Balance เตรียมมาตรฐานการรายงานข้อมูลต่าง ๆ ไปจนกระทั่งถึงขั้นตอนการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีด้วยกัน 4 ขั้นตอนหลัก ๆ ได้แก่  1) การยื่นแบบเสนอขายหลักทรัพย์  2) การอนุมัติการเสนอขายหลักทรัพย์ 3) การกำหนดวันจองซื้อ และ 4) การเข้าซื้อขายวันแรก

Stage 1: ยื่นคำขอเสนอขายหลักทรัพย์

เมื่อบริษัทพร้อมที่จะทำการระดมทุนผ่านการจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ  บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (Issuer) และที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) จะต้องร่วมกันจัดเตรียม  และยื่นเอกสารผ่านระบบ Digital IPO โดยจะเป็นการยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพร้อมกันด้วย

  1. แบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 35-1) พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการขออนุญาต และการรับรองคุณสมบัติการเป็นผู้ออกหลักทรัพย์ว่าครบถ้วนตามที่กำหนด
  2. แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือร่างหนังสือชี้ชวน (แบบ Filing) ประกอบการรายละเอียดของบริษัทที่จะเสนอขายหลักทรัพย์ งบการเงินของบริษัท ตลอดจนรายละเอียดการเสนอขาย

การยื่นคำขออนุญาตเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้งคุณภาพและตัวเลขตามคุณสมบัติที่กำหนด กรณีเอกสารไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องและไม่อาจแก้ไขได้ทันทีสำนักงานจะแจ้งความบกพร่องของคำขอและรายงานเอกสารหากไม่นำส่งภายในเวลาที่กำหนดสำนักงานจะคืนคำขอและเอกสารหลักฐานแก่บริษัทที่ยื่นคำขอ

โดยเมื่อยื่นเอกสารผ่านระบบ Digital IPO แล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. จะตรวจสอบข้อมูลพร้อมเอกสารประกอบว่าครบถ้วนหรือไม่ หากครบถ้วนจึงแจ้งรับทราบการยื่นขออนุญาตออกและเสนอขายหลักทรัพย์ให้กับ issuer หากเอกสารไม่ครบถ้วน บริษัทจะต้องแก้ไขและนำส่งภายในเวลาที่ตกลงกับสำนักงาน ก.ล.ต. ส่วนนักลงทุนจะได้ทราบข้อมูลของหลักทรัพย์ที่จะเสนอขาย IPO  เช่น รายละเอียดของบริษัท งบการเงิน และรวมทั้งแผนธุรกิจของบริษัทนั้น โดยนักลงทุนสามารถหาข้อมูลว่าบริษัทใดกำลังจะเสนอขายหลักทรัพย์ออกใหม่ ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.  และเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ https://www.set.or.th/th/listing/ipo/upcoming-ipo/set

Stage 2: อนุมัติคำขอเสนอขาย

เมื่อบริษัทได้รับจดหมายรับทราบการยื่นคำขอ จากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ระหว่างนี้สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาข้อมูลที่นำส่ง โดยบริษัทจะมีการอัปเดตข้อมูลใน แบบ Filing เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน และไม่ขาดสาระสำคัญที่จะต้องแจ้งต่อนักลงทุน โดยจะมีการตรวจสอบข้อมูล เช่น กระดาษทำการของ FA และ auditor การเยี่ยมชมกิจการ และสัมภาษณ์ผู้บริหาร (Management Interview) โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะใช้เวลาช่วงนี้ไม่เกิน 120 วัน โดยหลังจากนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จะออกจดหมายแจ้งการพิจารณาคำขอ จะใช้เวลาอีกไม่เกิน 45 วันในการพิจารณาอนุมัติแบบคำขอเสนอขายหลักทรัพย์ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะพิจารณาอนุมัติไปพร้อม ๆ กัน

ดังนั้น หากบริษัทต้องการจะเสนอขาย IPO ก็ควรจะต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน โดยเรียงลำดับเอกสารตามตัวอย่างหัวข้อที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศไว้ ก็จะช่วยให้เตรียมข้อมูลได้ครบถ้วนเร็วขึ้น  นอกจากนี้ บริษัทที่ได้รับสถานะเป็น Approved จึงจะเริ่มดำเนินการประชาสัมพันธ์การเสนอขายผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ ได้

ขั้นตอนนี้ นักลงทุนจะเห็นเอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็น 3 ชุด คือ ชุดต้นฉบับ (Original) ชุดที่แสดงการเปลี่ยนแปลงข้อมูล (Track Change Version) ซึ่งแสดงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย และชุดปรับปรุงล่าสุด (Final Version) ทั้งนี้ เมื่อหน้าเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นสถานะของหุ้น IPO ตัวนี้ว่า “Approved” ก็หมายความว่า บริษัทได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ได้

Stage 3: กำหนดวันจองซื้อ

ก่อนที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบ Filing) จะมีผลบังคับใช้ (Effective) ทางบริษัท Issuer และที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) จะต้องร่วมมือกันเตรียมข้อมูลที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ

  • การจัดทำข้อมูลการจองซื้อ ซึ่งจะประกอบด้วยรายละเอียดของหุ้นตัวนั้น เช่น ทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้นที่เสนอขาย ราคาเสนอขายต่อหุ้น หรือที่เรียกว่าราคา IPO  
  • รายละเอียดและเงื่อนไขการเสนอขาย เช่น เสนอขายให้ใครบ้าง ผ่านผู้จัดจำหน่ายและตัวแทนรับจองซื้อที่ไหนบ้าง
  • ขั้นตอนการชำระเงิน และอื่นๆ

เมื่อมีรายละเอียดครบแล้ว และได้ยื่นอัปเดตกับทางสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว จะเข้าสู่ช่วง Cooling Period 14 วัน คือข้อมูลในเวอร์ชั่นสุดท้ายต้องนิ่ง ไม่มีการแก้ไข ก่อนที่จะแบบ Filing นั้นจะเปลี่ยนสถานะเป็น Effective  ซึ่งในช่วง Cooling Period นี้มีไว้ให้นักลงทุนที่สนใจจองซื้อได้เข้ามาศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อนการจองซื้อ ซึ่งถ้าหากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอีก ก็จะต้องนับ Cooling Period ใหม่ตามเอกสารชุดล่าสุดที่ส่งเข้าระบบ ทั้งนี้ ราคา IPO อาจเป็นช่วงราคาก่อน และไปประกาศราคาสุดท้ายเมื่อผ่านวันจองซื้อไปแล้ว

หลังจาก Filing Effective แล้ว บริษัท Issuer สามารถที่จะประชาสัมพันธ์รายละเอียดการเสนอขายหลักทรัพย์หรือ Roadshow ได้ทางช่องทาง หรือ สื่อต่าง ๆ ช่วงนี้นักลงทุนจะได้รับข้อมูลทั้งจากการประชาสัมพันธ์ตามสื่อ นอกเหนือจากที่เผยแพร่บนระบบเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เว็บไซต์ของบริษัท และเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ  การเปิดจองหุ้น IPO จะมีผู้จัดจำหน่าย (Underwriter) เป็นตัวกลางในการซื้อขาย ซึ่งผู้จัดจำหน่ายอาจจะมีรายเดียว หรือหลายรายก็ได้  ในขั้นตอนนี้นักลงทุนเองก็จะได้พิจารณาว่าหุ้น IPO ตัวนี้น่าลงทุนหรือไม่จากราคาและรายละเอียดการจองซื้อ รวมไปถึงเอกสารบทวิเคราะห์หรือข้อมูลโดยสรุปจากบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ และเมื่อจองซื้อเสร็จแล้ว ทราบราคาเสนอขายสุดท้ายแล้ว ทางผู้จัดจำหน่ายจึงจะยืนยันจำนวนการจองซื้อ ราคา และคืนเงินส่วนเกินให้กับนักลงทุนต่อไป

Stage 4: เข้าซื้อขายวันแรก

ขั้นตอนสุดท้ายคือการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ First Trading Day ซึ่งจะมี Event จัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับบริษัทจดทะเบียนน้องใหม่ที่เข้าซื้อขายในตลาด สิ่งที่ทางบริษัทต้องเตรียมตัวก็จะเป็นเรื่องของกิจกรรมในวันงานเป็นหลัก และประสานงาน แต่งตั้งนายทะเบียนหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่ในการจัดสรรหลักทรัพย์เข้าบัญชีของนักลงทุนตามที่จองซื้อ

ในขั้นตอนนี้ นักลงทุนก็จะลุ้นกันว่าหุ้น IPO ที่ตนเองจองซื้อไปนั้นจะเปิดซื้อขายที่ราคาสูงกว่าราคาจองหรือไม่ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าหุ้นที่ดีคือหุ้นที่มีความต้องการหรือได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก จะทำให้ราคาซื้อขายวันแรกสูงกว่าราคาจองซื้อ และขณะเดียวกันนักลงทุนที่ไม่ได้จองซื้อ ก็จะมาเริ่มซื้อขายหลักทรัพย์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

โดยทั้ง 4 ชั้นตอนเหล่านี้สามารถติดตามอัปเดตข้อมูลของบริษัทที่จะเข้า IPO ได้ผ่านเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ https://www.set.or.th/th/listing/ipo/upcoming-ipo/set หรือติดตามอัปเดตขั้นตอนต่าง ๆ ได้ทาง Facebook SET Thailand

สำหรับบริษัทที่สนใจจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th