Financial Markets Update

สรุปประเด็นสัมมนา Thailand Focus 2023 | ศักยภาพอุตสาหกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต

Thailand Focus จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในทุกปี เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนของประเทศไทย และเพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนทั่วโลก โดยในปีนี้ Thailand Focus 2023 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บล. เกียรตินาคินภัทร และ บล. ทิสโก้ ร่วมด้วย Jefferies จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “The New Horizon” เพื่อนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสู่โอกาสการเติบโตด้วยอุตสาหกรรมใหม่ และธุรกิจที่เป็นอนาคตของประเทศ ต่อยอดจากความเข้มแข็งของไทย ตอกย้ำศักยภาพ สร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยสู่บริบทใหม่แห่งการลงทุน

Thailand Focus 2023 มีเนื้อหาสัมมนาที่หลากหลายประเด็นทั้งในด้านโอกาสการลงทุน และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยจากมุมมองของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงได้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนโลกให้ความสำคัญจากมุมมองของผู้แทนภาครัฐ ตลาดเงินตลาดทุน และผู้บริหารระดับสูงภาคธุรกิจของบริษัทชั้นนำ

TIF สรุปเนื้อหาฉบับย่อจากทุกสัมมนาในงาน Thailand Focus 2023 ให้ติดตามได้ในบทความนี้ หากต้องการรับชมเนื้อหาย้อนหลังฉบับเต็มเพิ่มเติม สามารถเข้าชมได้ผ่านทาง https://www.set.or.th/thailandfocus/2023

1. ภาพรวมเศรษฐกิจไทย

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย ตามแนวคิดหลัก “New Horizon” คือ การเตรียมพร้อมรับมือกับโลกในบริบทใหม่ และปรับตัวให้กับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  • เติบโตอย่างมั่นคง ด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ Soft power ต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจโดยรวม โดยการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งหลักของประเทศให้มากที่สุด นโยบายการเงินเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยมีความพร้อมและสามารถยืนหยัดในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาในตลาดทุนเพื่อริเริ่มโครงการต่าง ๆ และการเสริมความเชื่อมั่นของตลาดเพื่อประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมตลาดทั้งหมด
  • ภูมิทัศน์ ด้วยการเมืองและการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทาน ภูมิศาสตร์ของประเทศเปิดรับความท้าทายและโอกาสการเติบโตของภาคส่วนขนส่งด้วยพลังงานไฟฟ้าผ่านการลงทุนและนโยบายที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมเป็นหลัก
  • การเมือง ด้วยรัฐบาลใหม่ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการปรับตัวและการเฟ้นหาโอกาสไปพร้อมๆ กับการสร้างความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
  • ความยั่งยืน ด้วยแนวโน้มและการวางตำแหน่งมาสู่ความยั่งยืน โดยมีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และความคิดริเริ่มของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลักดัน ‘One-Report’ ซึ่งเป็นกฎระเบียบแนวปฏิบัติสำหรับบริษัทในการเปิดเผยผลการดำเนินงาน ESG ช่วยให้นักลงทุนและบริษัทมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น

ประเทศกำลังเผชิญกับช่วงเวลาของการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง ภาคเศรษฐกิจและการตลาดที่มีความเข้มแข็งและความยืดหยุ่น รวมถึงการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและความยั่งยืน จึงเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาตลาดทุนและการลงทุนในอนาคต

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กล่าวถึงการนำเสนอจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน ท่ามกลางความท้าทายมากมายในตลาดโลก ด้วยรากฐานเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง  ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมที่สำคัญและใหม่ และภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังพัฒนา รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการท่องเที่ยวและบริการ เสน่ห์ของอุตสาหกรรม Soft power ประเทศไทย ภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์และบทบาทสำคัญของแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการหารือถึงจุดแข็งและเป็นเส้นทางสู่ “บริบทใหม่”

2. Laying the foundations for sustainable recovery

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงิน สรุปได้ดังนี้

  • แนวโน้มเศรษฐกิจ
    • GDP ได้กลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนของการบริโภคมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสูงกว่า 6% ในปีที่แล้ว และสูงกว่า 5% ในไตรมาสแรกของปีนี้ การท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวประมาณ 15 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจนสิ้นปีไว้ที่ประมาณ 29 ล้านคน
    • แม้จะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่การส่งออกอ่อนตัวกว่าที่คาดการณ์ และการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวโดยรวมชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจีนน้อยลง แม้จะได้รับการชดเชยจากนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่คนจีน แต่นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มใช้จ่ายที่มากกว่าจึงเห็นเป็นรายได้ใช้จ่ายรวมที่อ่อนลง
    • ภาพรวมทางเศรษฐกิจยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ตัวเลขการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อต่อปีจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ล่าสุดที่ 3.6% และ 2.5% ตามลำดับ
  • การตอบสนองนโยบายการเงิน
    • การดำเนินนโยบายปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเหมือนในช่วงที่ผ่านมา แต่เปิดให้ทางเลือกว่าจะขึ้นต่อหรือคงไว้ที่เดิมได้ในรอบหน้า ขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมา
    • การดำเนินนโยบายการเงินของ  จะไม่โอนเอนไปตามข้อมูลในระยะสั้น แต่ข้อมูลต่างๆ จะถูกนำมาวิเคราะห์ว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ได้คาดการณ์เอาไว้หรือไม่ โดย 3 น้ำหนักต่อการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ย ได้แก่
      • เศรษฐกิจเติบโตในระดับศักยภาพในระยะยาวหรือไม่ คือ ระดับ 3-4%
      • แนวโน้มเงินเฟ้อ ควรจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งเป็นระดับที่ยั่งยืน
    • อัตราดอกเบี้ยต้องไม่กระทบปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อ GDP การจะไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คือ ต้องปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสมดุลระยะยาวมากขึ้น
  • นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
    • เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบันที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ มีมาตรการ 3 ประการได้แก่
      • มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งรวมถึงการดูแลปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt)
      • การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing: RBP) มาตรการ RBP จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดีจะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยในปัจจุบัน
      • มาตราการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) เพื่อให้แน่ใจว่าภาคครัวเรือนจะไม่ก่อหนี้มากเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือมาตรการเหล่านี้จะมุ่งลดระดับหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนในระยะยาว

3. ตลาดทุนไทยสู่บริบทใหม่ | Thai capital market towards the new horizon

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย

กล่าวถึงโอกาสในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย สรุปได้ดังนี้

  • ภาคการส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดทั่วโลกของประเทศไทยแล้วถือว่าอยู่ในระบบที่จัดการได้ดี เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีเงินสำรองสูง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ปกติ และธนาคารต่างๆ มีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
  • ระบบโครงสร้างพื้นฐานต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น เช่น ระบบการขนส่ง  สนามบิน ท่าเรือ EEC หากพัฒนาในจุดเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเติบโตได้  
  • ต้องดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยก็จะเติบโตไปด้วย แต่มีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ คือ การคว้าโอกาส แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ให้ได้ในสถานการณ์ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง จุดรวมของการลงทุน ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญในประเทศเพียงพอ ก็ต้องดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ต้องทำให้ไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเอเชีย

เชษฐ์ เบญจวิทย์วิไล
Portfolio Manager บริษัท เจพี มอร์แกน แอสเสท แมเนจเม้นท์ จำกัด

กล่าวถึงความท้าทายของตลาดทุนไทยในมุมของนักลงทุน ซึ่งเปรียบประเทศเหมือนนักกีฬาเก่าที่ยังคงต้องมองหาสนามแข่งอยู่ ยังคงต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยมีปัจจัยในการเลือกบริษัทที่จะลงทุน 3 ประการ ได้แก่

  1. บริษัทที่จะลงทุนนั้นเป็นแบบไหน มีแนวคิดที่ถูกต้องหรือไม่ ให้ความสำคัญหรือมุ่งเน้นไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่
  2. การมองย้อนไปในอดีต จากประสบการณ์แล้วมักจะทำแบบเดิม ซึ่งอาจจะเห็นถึงความผิดพลาดแบบเดิม ๆ แต่หลักฐานหรือข้อมูลในอดีตก็ไม่อาจคาดเดาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เสมอไป เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็ไม่สามารถบอกได้ถึงผลลัพธ์ในอนาคตได้
  3. การเจรจาสื่อสารระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้น นักลงทุนต้องรู้ว่าบริษัทนั้นๆ หาเงินอย่างไร รวมถึงมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าของบริษัทได้ หากบริษัทมีความรับผิดชอบต่อนักลงทุน บรรยากาศการลงทุนก็จะดีขึ้น ดังนั้น นักลงทุนต้องรู้จักที่จะเลือกการลงทุน คว้าโอกาสในการลงทุนด้วยคำถามที่ถูกต้อง และเลือกบริษัทที่มีแนวคิดที่ถูกต้อง

ศุภโชค ศุภบัณฑิต
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงมุมมองการลงทุน รวมถึงการป้องกันและลงโทษผู้กระทำความผิดในตลาดทุน สรุปได้ดังนี้

  • ประเทศไทยตอนนี้มีการเปลี่ยนไปสำหรับการลงทุน  โดยมีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ตอนนี้การลงทุนไม่ได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
  • การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใด โดยพิจารณาจากดัชนีผลตอบแทนในตลาดหุ้นมีความทรงตัวมาตลอดในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
  • การจัดการกับปัญหาการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นจากการลงทุน นอกจากการป้องกัน คือ การใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิด ผลักดันให้มีการดำเนินคดีที่รวดเร็วขึ้น การเข้มงวดกับกฎระเบียบมากขึ้น แต่ไม่ทำให้คนที่ไม่ได้ทำผิดต้องพบกับความยุ่งยากในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตามตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การป้องกันโดยให้มีการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทมากขึ้น

4. S-Curve ใหม่ของการท่องเที่ยวไทย | The next s-curve of Thai tourism

ดร. ชูวิทย์ มิตรชอบ
รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

กล่าวถึง การส่งเสริมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ สรุปได้ดังนี้

  • การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยแต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียวไม่เพียงพอ การท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญ
  • ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงและมีความรับผิดชอบสูงเช่นเดียวกัน เป็นโอกาสในการเพิ่มขนาดส่วนแบ่งในตลาดการท่องเที่ยวให้ใหญ่มากขึ้น เห็นได้จากการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในด้านการนำ Social Development Goal มาปฏิบัติในภูมิภาคอาเซียน
  • ถึงแม้ว่าประเทศจะได้รับ GDP สูงขึ้นจากการท่องเที่ยว แต่ต้องคำนึงปัญหามากมาย และอาจเกิดความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องพยายามสร้างต้นแบบ หรือนำต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาแนะนำให้จังหวัดต่างๆ ได้ปฏิบัติตาม รวมถึงการกระจายรายได้ไปสู่จังหวัดต่างๆ รวมถึงเมืองรองอีกด้วย

ลัชชิดา อาภาพันธุ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานยุทธศาสตร์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงการพัฒนาและขยายพื้นที่ให้สอดรับกับแนวโน้มการเติบโตด้านการท่องเที่ยวไทย สรุปได้ดังนี้

  • ท่าอากาศยานฯ ได้มีการพัฒนาและขยายพื้นที่ให้สอดรับกับแนวโน้มการเติบโตด้านการท่องเที่ยวไทยที่จะกลับมาหลังนานาประเทศได้ฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจหลังการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 
  • ภาคการท่องเที่ยวควรเร่งเฟ้นหาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ควรผลักดันการท่องเที่ยวในช่วง off-peak รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ครอบคลุมทั้งตัวเมืองหลักและตัวเมืองรองเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
  • ขยายหรือเพิ่มจำนวนสนามบินให้ครอบคลุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงการเดินทางระหว่างสนามบินหรือการเดินทางจากสนามบินไปสู่เส้นทางการท่องเที่ยวต่างๆ ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
  • เสนอให้รัฐบาลทำความตกลงกับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มจำนวนโควตาการให้วีซ่าเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยว ให้สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรต่างๆ เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม

ดร. ตนุพล วิรุฬหการุญ
ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก

กล่าวถึงภาพรวมของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สรุปได้ดังนี้

  • สุขภาพเป็นเรื่องที่ประชากรโลกให้ความสนใจมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจเวลเนสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะเติบโตซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ทางการแพทย์แต่รวมไปถึงอาหาร การดูแลสุขภาพจิต การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
  • จำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 88% เป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่สนใจการแพทย์เชิงป้องกันมากกว่าการแพทย์เชิงรักษา และยินดีจ่ายเงินเพื่อการดูแลสุขภาพในแบบต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการลดสูบบุหรี่และการรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

5. ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการย้ายฐานห่วงโซ่อุปทานและการกลับเข้ามาลงทุน ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า | Benefits from supply chain relocation and renewed investments: EV industries

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย สรุปได้ดังนี้

  • อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีความแข็งแกร่ง เป็นหนึ่งในรายใหญ่ด้านการส่งออกรถยนต์ของโลก เนื่องจากครบวงจรและอยู่ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์มายาวนาน เมื่อมีนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV ให้ขึ้นมาเป็นภาคการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ จึงทำให้การลงทุนด้านอุตสาหกรรมกลับมาสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตั้งแต่โครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟและแบตเตอรี่ ประเทศไทยหวังว่าจะสามารถเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ EV ระดับโลกได้ในไม่ช้า
  • การพัฒนานี้มีความท้าทายความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์และด้านราคา ซึ่งนักลงทุนจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาที่ลงทุนซึ่งมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงยืนยาว และมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงประเทศไทยจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ เพราะมีตลาดขนาดใหญ่ มีเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง
  • พลังงานสะอาด จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถประสบความสำเร็จในเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์หรือน้อยลงได้  รวมทั้งเป็นประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแทบทุกประเทศ ในสายตานักลงทุนเป็นแหล่งลงทุนที่ไม่ได้ขัดแย้งกับภูมิภาคใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของนักลงทุน

ประธานพร พรประภา
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโต้โมทีฟ จำกัด

กล่าวถึงการขยายตัวของรถยนต์ EV ในไทย สรุปได้ดังนี้

  • ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนหลังยุคโควิด-19  ทำให้ยอดขายรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้วจะเติบโตได้ถึง 400% ในปีนี้ กล่าวได้ว่าคนไทยกำลังพร้อมรับรถยนต์ EV ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ครบวงจรมากขึ้น
  • เมื่อมีการอุดหนุนของรัฐบาลไทยเป็นสิ่งที่ดีและจะทำให้รถยนต์ EV เดินหน้าได้ ซึ่งจะทำให้มีทั้งรายใหม่ๆและรายใหญ่ๆ เข้ามามากขึ้นซึ่งทำให้เกิดความคึกคักและจะเป็นการกระตุ้นมากขึ้นเช่นเดียวกัน

6. Soft power ขับเคลื่อนประเทศไทย | The potential of Thailand’s thriving soft power

ณรัล วิวรรธนไกร
กรรมการบริหาร บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงมุมมองธุรกิจสปาและโอกาสการเติบโตเป็น Soft power สรุปได้ดังนี้

  • แม้ธุรกิจสปาจะได้รับผลกระทบหลายๆ ด้านจากสถานการณ์โควิด-19  แต่ทางบริษัทได้มีการปรับรูปแบบธุรกิจอย่างเหมาะสม รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้แตกต่างอยู่เสมอทั้งรูป รส กลิ่น เสียง เป็นการผสมระหว่างทักษะและวิชาการเข้าด้วยกัน เช่น การเปิดเพลงประกอบที่สอดคล้องกับจังหวะการเต้นของหัวใจ และการปรุงกลิ่นของร้านให้เกิดความผ่อนคลายแก่ลูกค้า หรือการเสิร์ฟข้าวเหนียวมะม่วงเพื่อแนะนำอาหารไทยแก่ลูกค้า
  • การมีศูนย์ฝึกทักษะของตนเองทำให้บริษัทรักษาคุณภาพพนักงานไว้ได้และเชื่อว่าแม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปก้าวหน้ามากแค่ไหน พนักงานนวดที่ให้บริการลูกค้าย่อมสื่อสารกับลูกค้าได้เข้าใจมากกว่า และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าหุ่นยนต์อย่างแน่นอน
  • ธุรกิจด้านเวลเนสและการท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญที่สร้างรายได้มหาศาลได้ในเวลาอันรวดเร็ว และการต้อนรับดูแลแบบไทย ๆ เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในประเทศอื่นในโลก ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพพร้อมจะใช้จ่ายเพื่อรับบริการที่ล้ำเลิศหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างไม่ขาดสาย หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในอนาคตอันใกล้

เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด

กล่าวถึงมุมมองมวยไทยและโอกาสการเติบโตเป็น Soft power สรุปได้ดังนี้

  • ศิลปะต่อสู้นั้นมีความเป็นสากล ที่ไม่ต้องใช้ทักษะภาษา ก็สามารถเข้าใจและรู้ผลการต่อสู้ได้ บวกกับสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นและการอยากดูการต่อสู้ของคน จึงทำให้สนามมวยราชดำเนินเป็น Soft power อย่างหนึ่งได้ โดยการรักษาเอกลักษณ์ที่เหมือนเป็นโรงละครบอร์ดเวย์ ชูความสำคัญและประวัติความเป็นมา
  • เนื่องจากในปัจจุบันสนามมวยราชดำเนินได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ DAZN ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาทั่วโลก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมมวยไทยได้ และยิ่งหากได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลไทย มวยไทยจะเป็นหนึ่งใน Soft power ที่สำคัญที่สำคัญของประเทศได้

วิทูร ศิลาอ่อน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงมุมมองธุรกิจร้านอาหารและโอกาสการเติบโตเป็น Soft power สรุปได้ดังนี้

  • บริษัท S&P เปิดทำการด้านร้านอาหารและเบเกอรี่ มาแล้วกว่า 50 ปี ร้าน S&P ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มีลูกค้าหลักเป็นคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีสาขาในต่างประเทศเช่นเดียวกัน
  • อาหารที่ร้านในต่างประเทศนั้นได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในแต่ละที่เป็นหลัก โดยยังคงความเป็นไทยด้วยการใช้เครื่องปรุงและวัตถุดิบของไทย รวมถึงวัฒนธรรมการกินของคนไทยเปลี่ยนไป หันมาสั่งอาหารจากบริการ delivery มากขึ้น
  • การสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีการสร้าง ECO System ที่ดี ยกระดับมาตรฐานทุก ๆ Soft power โดยเฉพาะการเพิ่มคุณภาพวัตถุดิบ ผัก ผลไม้ของอาหารไทย และการผลิตเชฟที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดที่กำลังเติบโต สร้างมูลค่าให้คนทั่วโลกคิดว่าอาหารไทยแท้ ๆ ต้องมาที่ประเทศไทยเท่านั้น

7. แนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในระดับโลก | World class practices in sustainability

อดัม เบรนนัน
ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงนโยบายด้าน ESG รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนี้

  • ESG เป็นสิ่งที่บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งได้มีการออกนโยบาย SeaChange เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย โดยเล็งเห็นว่าการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและการปกป้องแรงงานที่ทำงานในเรือประมงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งในปี 2023 ยังมีการออกนโยบาย SeaChange 2030 โดยมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนในสายการผลิตในปี 2030
  • นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าก็มีความคาดหวังเพิ่มขึ้นและมีเป้าหมาย ESG ด้วยเช่นเดียวกัน จึงเป็นโอกาสให้มีพันธมิตรหรือคู่ค้าที่มีแนวทางเรื่องสิ่งแวดล้อมเดียวกัน
  • บริษัทได้ร่วมมือกับองค์กร NGO ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลและเทคโนโลยีในการติดตามเฝ้าดูเรือประมงที่เป็นคู่ค้า รวมถึงคำแนะนำจากวิชาการต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ควรทราบเพื่อวางแผนบริษัท

ดร. ชญาน์ จันทวสุ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงแนวปฏิบัติเรื่องการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนรวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนี้

  • ได้ยอมรับแนวทางข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่พยายามควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 20% ในปี 2030 และให้เป็น 0 ในปี 2050
  • การสร้างความเข้าใจในความยั่งยืนและจัดทำนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกันกับผู้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ทั้งหมดเช่น นักลงทุน กรรมการบริหาร รวมถึงพนักงานของบริษัท อย่างไรก็ตามบริษัทต้องมุ่งเน้นด้านธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมายด้วย จึงมีแผนการทดแทนต่างๆ เข้ามาช่วย รวมถึงเทคโนโลยีและนโยบายเพื่อคิดต้นทุนการปล่อยก๊าซร้อนขึ้นสู่บรรยากาศมาเป็นต้นทุนธุรกิจด้วย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติก็เป็นอีกส่วนที่มีอิทธิพลต่อบริษัทเพื่อจัดทำนโยบายและการเติบโตอย่างยั่งยืนได้

ชนะ ภูมี
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

กล่าวถึงแนวปฏิบัติของ SCG ที่มุ่งเน้นเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างมั่นคง ดังนี้

  • SCG มีแนวปฏิบัติ SCG 4 Plus ซึ่งมีเป้าหมาย คือ มุ่ง Net zero, Go Green , Lean เหลื่อมล้ำ และย้ำร่วมมือ  
  • นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับภาคประชาชน ชุมชนต่างๆ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและออกผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระบวนการผลิตที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการลดการใช้พลังงานคาร์บอน เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และพยายามเข้าถึงเงินช่วยเหลือนอกประเทศเพื่อการสนับสนุนโครงการสะอาด
  • การลงทุนใน low carbon technology  และ TCFD (มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ) ยังต้องมีการปรับปรุงให้มีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากนักลงทุน ก็จะทำให้เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น