Digital Asset

Bitcoin และ Digital Assets เป็นฟองสบู่หรือเปล่า เหมืองแตกหรือยัง … ทำความเข้าใจได้ที่นี่

หลังจากราคา Bitcoin และ digital assets ต่าง ๆ ราคาร่วงครั้งใหญ่ ก็เกิดคำถาม 2 ข้อใหญ่ ๆ ขึ้นมาในแวดวงการเงิน นั่นคือ

1)  Bitcoin และ digital assets ต่าง ๆ เป็นฟองสบู่หรือเปล่า และ
2) เหมือง Digital currencies แตกหรือยัง

ก่อนจะไปลงรายละเอียด ขอปูพื้นข้อมูลและศัพท์ต่าง ๆ ให้ทราบกันก่อน จะได้อ่านกันต่อไปได้อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น

  1. Bitcoin เป็นเพียง Digital currency ตระกูลหนึ่งในบรรดาหลายร้อยสกุลทั่วโลก(T)
  2. Digital currencies เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Digital assets
  3. Digital asset ประเภทหลัก ๆ ประกอบด้วย Digital shares (หุ้นดิจิตอล) และ Digital currencies (เงินดิจิตอล) ซึ่งไม่ต่างอะไรกับโลกดั้งเดิมที่ทั้งหุ้นและเงินตรา ก็เป็นสินทรัพย์ที่ถึงครองได้เช่นกัน .. ตัวอย่าง Digital shares ก็เช่น OmiseGO ของค่าย Omise ที่ทำระบบ Payments และต่อยอดมาทำบริการ Blockchain e-wallet
  4. Digital assets ทำงานบน Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการทำธุรกรรมแบบไม่รวมศูนย์ (Decentrailized) และมีค่าธรรมเนียมต่ำ (Low fee)

    สรุปได้ว่า Bitcoin ⊃ Digital currencies ⊃ Digital assets ⊃ Blockchain
    (⊃ = เป็นซับเซ็ท)

  5. กลับมาที่ส่วนของ Digital currency ที่มีการโอนความเป็นเจ้าของไปมาทั่วโลก และการโอนไปมาดังกล่าว ต้องอาศัย hardware ที่เหมาะสมเข้ามาช่วยประมวลผลและยืนยันธุรกรรม
  6. การใช้ Hardware เข้ามาช่วยประมวลผลและยืนยันธุรกรรม จะได้ผลตอบแทนเป็น Digital currency ก้อนใหม่จำนวนหนึ่งเพิ่มเข้ามาในระบบ และอยู่ในความครอบครองของเจ้าของ Hardware
  7. การลงทุนซื้อ Hardware แล้วเอามาเชื่อมเข้ากับระบบประมวลผลและยืนยันธุรกรรม จนได้ผลตอบแทนในที่สุดนั้น จัดเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกกันง่าย ๆ ในภาษาสายอุปกรณ์ว่า “ทำเหมือง” หรือ”ขุดเหรียญ” (Coin mining)
  8. การลงทุนทำเหมืองนั้นทำได้ทั้งสเกลครัวเรือนและสเกลมหึมาเป็นฟาร์มขนาดใหญ่เท่าโรงงานอุตสาหกรรม และการลงทุนแบบนี้ให้กำไรในเทอมของสกุลของปกติ (Fiat money) ในอัตราดีมาก ส่วนจะดีแค่ไหน คิดเป็นกี่ % ต่อปี สามารถหาข้อมูลได้เองบน Google (บอกได้แค่ว่า สูงกว่าถึงสูงกว่ามาก ๆ เมื่อเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนในรูปแบบที่เราคุ้ยเคยกันทั่วไป
(Advertising)

มาถึงจุดนี้ก็น่าจะวนกลับเข้ามาที่คำถามที่โปรยไว้แต่แรกได้แรก ซึ่งข้อแรกคือ(I)

1) Bitcoin และ digital assets ต่าง ๆ เป็นฟองสบู่หรือไม่

  • ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมในเรื่อง Blockchain โดยเฉพาะด้าน Digital currency เพิ่มขึ้นอย่างมาก (ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว อย่าง Bitcoin ก็ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2009) ทำให้ราคา Bitcoin และ Digital currencies ต่าง ๆ พากันพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล

อยู่มาจนถึงกลางเดือนมิุนายน 2560 ราคา Digital currencies ก็แตะจุดสูงสุด และหลังจากนั้นคือการร่วงลงอย่างแรงถึง 25-50% ของราคาสูงสุด (แต่ก็ยังสูงกว่าระดับของปีก่อนอยู่มาก)

ส่วนการจะบอกได้ว่า อย่างนี้เรียกฟองสบู่แตกหรือไม่ ต้องถามกลับว่า นิยามของ “ฟองสบู่” คืออะไร ซึ่งบางท่านอาจจะบอกว่า “คือการที่ราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้นเกินพื้นฐานอย่างมาก” ก็ต้องถามต่อว่า “แล้วนิยาม “มูลค่าพื้นฐานของ Digital asset” นั้นวัดอย่างไร ซึ่งส่วนคิดว่า วัดได้ยากโดยเฉพาะส่วนที่เป็น Digital currency ในขณะส่วนที่เป็น Digital shares หรือสิทธิ(ในรูปแบบดิจิตอล)ในส่วนแบ่งกำไรของธุรกิจ อาจจะวัดได้ง่ายโดยใช้หลักการทางการเงิน

แต่กระนั้น ก็พอจะดูได้จากปริมาณธุรกรรมของ Digital currency ว่ามี “อุปสงค์” ในการใช้งานมากน้อยเพียงไร เพราะเรารู้ว่า “ราคา” ของสิ่งต่าง ๆ นั้นเกิดจาก “อุปสงค์” ซึ่งจากกราฟนี้ จะเห็นว่าปริมาณธุรกรรมโอน Bitcoin ไปมาทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวันละไม่กี่พันรายการเมื่อ 5 ปีก่อน กลายเป็นวันละหลายแสนรายการในปัจจุบัน จะมีร่วงแรงก็ช่วงนี้ที่ราคาตกลงมาเยอะ ๆ

(ข้อมูลจาก https://blockchain.info)

ส่วน Eteruem ซึ่งเป็น Digital currency ที่มี market capitalization (ราคา x จำนวน) ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก Btcoin ก็มีแนวโน้มของปริมาณการทำธุรกรรมต่อวัน เพิ่มขึ้นมหาศาลเช่นกัน แถมพบว่าได้รับผลกระทบจากราคาที่ร่วง น้อยกว่า Bitcoin ด้วยซ้ำ(F)

(ข้อมูลจาก https://etherscan.io)

สรุปได้ว่า Digital currency เป็นระบบที่ยังเดินหน้าอยู่ตลอดเวลา และมีแนวโน้มความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากทั่วโลก ข้อมูลนี้อาจจะไม่สามารถตอบได้ชัด ๆ ว่ามันเป็นฟองสบู่หรือไม่ เพราะนั่นคือคำถามจากโลกของการเงิน

แต่ถ้าตอบจากโลกเทคโนโลยี บอกได้เต็มปากว่า Digital currency ยังไปต่อได้อีกไกล นี่เป็นแค่ยุคเริ่มต้นเท่านั้น

  • และเมื่อเราพูดกันในมิติของเทคโนโลยี เมื่อศึกษาลงลึกอย่างแท้จริงก็จะพบว่า เหตุผลที่ราคา Digital asset ทั่วโลกร่วงหนัก ก็มีสาเหตุหลักอันหนึ่ง (อาจจะเป็นสาเหตุต้นทางอันเดียวเลยก็ได้) มาจากประเด็นทางเทคโนโลยี และเริ่มมาจาก Bitcoin

Bitcoin เป็น Digital currency สกุลแรกของโลกที่เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นแบบให้ Digital currency อีกหลายสกุลใช้พัฒนาต่อยอด ไม่ว่าจะเป็น Ethereum ที่เป็นคนละค่ายกัน หรือ Litecoin ที่พัฒนาแตกสายออกมาจาก Bitcoin เมื่อปี 2011(T)

และเมื่อ Bitcoin เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก เทคโนโลยีที่ใช้ก็เป็นยุคตั้งต้นของโลก Digital asset ด้วยเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป มีความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ปริมาณธุรกรรมในสกุล Bitcoin เพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้ระบบที่ออกแบบไว้แต่เดิมเริ่มจะไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป ซึงดูได้จากช่วงที่ราคา Bitcoin ขึ้นไปสูง ๆ ในเวลารวดเร็ว เกิดธุรกรรมค้างรอการยืนยันในระบบจำนวนมาก จากเดิมที่ใช้เวลาโอนจาก A ไป B แค่ 5-15 นาที กลับพุ่งขึ้นเป็นหลายชั่วโมง หรือบางกรณี (เกิดไม่เยอะ) ต้องรอเป็นวัน ๆ โดยในกราฟคือปริมาณข้อมูลธุรกรรมที่ค้างอยู่ในระบบ (Mempool) ซึ่งพุ่งขึ้นสูงมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2560

(ข้อมูลจาก https://blockchain.info)

ในการทำธุรกรรมโอน Bitcoin ไปมาทั่วโลก ผู้ที่ช่วยประมวลผลและยืนยันธุรกรรมจะได้ค่าตอบแทน 2 ส่วนคือ (1) Bitcoin สดใหม่จากระบบ (Newly-minted block reward) และ (2) ค่าธรรมเนียมการโอน (fee) ที่ผู้โอนยอมจ่ายเพื่อเร่งให้ธุรกรรมเสร็จเร็วขึ้น

และจากกราฟข้างต้น เมื่อธุรกรรมค้างท่อนานขึ้น แต่ความจำเป็นในการโอน Bitcoin มีสูง ทำให้ผู้โอนต้องยอมจ่าย fee สูงขึ้น กลายเป็นว่า ระบบที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการโอนเงิน กลับไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป โดยในกราฟคือจำนวนค่าธรรมเนียมรวมในแต่ละวัน (ไม่ใช่ต่อรายการ) ซึ่งพุ่งขึ้นสูงมากในทิศทางเดียวกันกับปริมาณธุรกรรมที่ค้างในระบบ

(ข้อมูลจาก https://blockchain.info)

กลุ่มนักพัฒนาระบบและกลุ่มผู้ใช้งานรายใหญ่จึงเห็นว่า หากปล่อยไว้ต่อไป ระบบ Bitcoin คงจะคลายความน่าสนใจลง เพราะโอนช้า และเสียค่าโอนแพง จึงเสนอความคิดในการปรับปรุงระบบแกนกลางของ Bitcoin ให้ดีขึ้น โดยข้อเสนอนี้มีเชื่อว่า Bitcoin Improvement Proposal 148 หรือ “BIP148” และมีศัพท์เรียกกระบวนการปรับปรุงนี้ว่า “Segregated Witness Soft fork” ซึ่งจะเรียกสั้น ๆ ว่า “SegWit” หรือ “Soft fork” หรือ BIP148 Soft fork” ก็แล้วแต่จะเลือกความเท่กันไป ในขณะที่ “Hard fork” คือการเปลี่ยนแปลงระบบแกนกลางไปอย่างมีนัยสำคัญ (ไม่ใช่แค่ไมเนอร์เชนจ์) จนกลายเป็นการแยกตัวออกมาเป็น Digital currency ตระกูลใหม่

โดยกระบวนการ Soft fork นี้ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้ใช้งาน (หลัก ๆ คือ Exchange และ Wallet ค่ายใหญ่ ๆ ของโลก) ไม่น้อยกว่า 95% ภายเช้าวันที่ 1 สิงหาคม 2560

จึงจะสามารถนำไปใช้ได้เต็มรูปแบบทั่วโลก แต่หากได้รับเสียงไม่ถึง 95% แต่เป็นสัดส่วนที่สูงพอสมควร (ไม่ใช่แค่ 5-10%) ก็อาจจะทำให้กลุ่มที่สนับสนุน Soft fork ทำการแยกตัวออกจากระบบ Bitcoin ดั้งเดิม ออกมาเป็น Bitcoin สายใหม่ก็เป็นได้ ซึ่งปัจจุบันเสียงสนับสนุนการทำ Soft fork ขยับขึ้นมาเป็นประมาณ 45% แล้ว(I)

(ข้อมูลจาก https://blockchain.info)

และสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ก็คือ

  1. กระบวนการ Soft Fork ได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 95%: นั่นก็คือ “จบสวย” ทั้งระบบจะถูกปรับมาใช้รูปแบบใหม่พร้อมหน้า
  2. กระบวนการ Soft Fork ได้รับเสียงสนับสนุนไม่ถึง 95% แต่ก็ได้เยอะ (เช่น ปัจจุบันที่ 45%) ก็มีโอกาสจะเกิดการแยกสาย Bitcoin ออกมาเป็นสกุลใหม่ เพราะสายที่ได้เสียงถึง 45% แล้วคงไม่ยอมถอยง่าย ๆ .. บางคนถึงกับตั้งชื่อให้แล้วว่า Bitcoin แบบเก่าจะกลายเป็น “Bitcoin Legacy” หรือ “Bitcoin Classic” ส่วนรูปแบบใหม่ก็จะยังใช้ชื่อ Bitcoin ต่อไปแต่ที่มันซับซ้อนคือ หากมีการแตกเงินเป็น 2 สกุลจริง ก็ไม่ใช่ว่าจะแยกแล้วแยกเลยแบบถาวร ยังมีโอกาสดูเชิงกันอีกระยะ (อาจจะกินเวลาสั้นหรือยาวก็ได้) ว่าสกุลไหนจะได้รับความนิยมจนทำให้อีกสกุลต้องขอกลับมารวมตัวอีกครั้ง หรืออาจจะแยกกันถาวรก็ได้ (คือเริ่มจาก Soft fork แต่ไปจบที่ Hard fork ซะงั้น)

    และในช่วงที่ลองเชิงกันอยู่นั้น คนที่มี Bitcoin สกุลเดิมอยู่ ระบบจะสร้าง  Bitcoin สกุลใหม่เพิ่มขึ้นมาเราเองโดนอัตโนมัติ  (อ้างอิง: Bitcoin Magazine) ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทั้งสองสกุลเก่าใหม่แล้ว ควรจะมี Total wealth รวมกันเท่าเดิม (หวังว่า)

และเมื่อมีความไม่แน่นอนและความยากที่จะเข้าใจเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ราคา Bitcoin ร่วงอย่างหนัก จากราคาในเทอมเงินบาทที่ประมาณ 95,000 บาท/BTC ลงมาแตะระดับต่ำสุดที่ 62,400 บาท/BTC ก่อนจะเด้งแรงขึ้นมาอยู่ที่ 75,000 บาท/BTC ณ เวลาที่เขียนบทความนี้

(ข้อมูลจาก https://bx.in.th)

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ถือ Bitcoin ควรทำในช่วงปลายเดือนนี้จนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2560 คือ

  1. ไม่โอนเงินสกุล Bitcoin ในช่วงเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม – เช้าวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งบาง Exchange ประกาศหยุดบริการโอน Bitcoin ในช่วงเวลาดังกล่าวให้เองเลย เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
  2. Backup ข้อมูลเลขบัญชีส่วนตัว (Private Key) ไว้ให้ดี เผื่อกรณีแย่ ๆ ที่ข้อมูลในระบบสูญหาย จะได้กู้บัญชี(ซึ่งมีเงินอยู่ในนั้น)กลับมาได้(F)
  3. ถ้าราคาเด้งขึ้นแรง ๆ ก่อนช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม จะเปลี่ยนไปถือเงินบาทหรือ Digital currency สกุลอื่นแทน เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา ก็เป็นทางเลือกที่ทำควบคู่ไปได้

ส่วนผู้ที่ถือ Digital currency สกุลอื่น เช่น Ethereum, Dash, Litecoin และราคาร่วงลงมามากตาม Bitcoin

ขอบอกว่าท่านโดนหางเลข เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว เงินสกุลของอื่น ๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะผลกระทบทางเทคโนโลยี

แต่ก็เถียงไม่ได้ ว่าช่วงที่ผ่านมา Digital asset ราคาขึ้นแรงมากทั่วโลก เมื่อเกิดการขายในเงินสกุลหลัก เงินสกุลรองก็ถูกขายทำกำไรตามไปด้วย และประกอบกับการมีตลาด futures ในต่างประเทศเป็นสิบ ๆ แห่งแล้วด้วย การ Short futures ของ digital assets แล้วขาย underlying ตามลงไป (มีของในมือเยอะ เพราะซื้อขึ้นมาไว้นานแล้ว) ก็ยิ่งได้กำไรขาลง ยิ่งทำให้ราคาร่วงหนักและแรงยิ่งขึ้นไปอีก แต่กระนั้น ราคา ณ ปัจจุบันก็ทยอยฟื้นตัวกันขึ้นมาแล้วทั่วหน้า

2) เหมือง Digital Currencies แตกหรือยัง

คำว่า “เหมืองแตก” ก็หมายถึง Hardware ที่ใช้ในการประมวลผลและยืนยันธุรกรรม ได้รับค่าตอบแทนไม่คุ้มต้นทุนและค่าไฟ ทำให้ต้องยุติการทำงาน (ดันทุรังทำต่อ = ขาดทุน) ซึ่งเหตุการเหมืองแตก จะเกิดเมื่อราคา Digital currencies ตกลงมาก ๆ (มาก ในที่นี้ น่าจะต้องเกิน 70-80% ) จนไม่คุ้มค่าไฟ และ/หรือ ค่าความยากในการประมวลผลและยืนยันธุรกรรม (Difficulty) – ซึ่งเป็น Code ที่เขียนมาเพื่อควบคุมความเร็วในการทำงานของระบบโดยอัตโนมัติไม่ให้เร็วเกินไปจนมี Block reward เกิดใหม่จนเงินเฟ้อและไร้ค่า (ถ้างง .. อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.altcointoday.com/bitcoin-mining-difficulty-explained) – สูงเกินความสามารถของ Hardware คือเครื่องโง่กว่าระบบ ใช้ทำธุรกรรมไม่ได้ เปิดไว้ก็เปลืองไฟ จึงปิดไปดีกว่า

ซึ่งการจะดูว่าราคา Digital currencies ระดับไหน ค่าความยากระดับไหน เหมืองถึงยังคงมีกำไร อาจจะคำนวณยากสำหรับคนทั่วไป (แต่จะเอาจริง ๆ ก็ทำได้) แต่เมื่อเราเข้าใจว่า การเข้ามาขุดเหรียญจะดำเนินไปได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังทำแล้วมีกำไร และกำลังการขุดทั่วโลก (Hash rate) สามารถตรวจวัดได้แบบ real-time เราจึงเอากราฟ Hash rate นี่แหละ มาดูว่าคนทั่วโลกเขายัง happy ที่จะขุดเหรียญกันต่อไปหรือเปล่า ถ้า hash rate สูง =  happy =ทำแล้วยังมีกำไร = เหมืองยังไม่แตก(T)

โดยกราฟด้านล่างนี้ก็แสดงชัดเจนว่าแม้แต่หลังจากกลางเดือนมิถุนายน 2560 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นจุดที่ราคาเริ่มร่วง .. Global hash rate ของ digital currencies สกุลหลัก ๆ ของโลก ไม่ได้ร่วงลงเลย กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แปลว่ามีคนเข้ามาช่วยขุดในระบบเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

(Global Hash rate ของ Ethereum: ข้อมูลจาก Etherscan.io)

(Global Hash rate ของ Bitcoin: ข้อมูลจาก https://blockchain.info)

เขียนมายาวมาก ขอสรุปสั้น ๆ เลยแล้วกันว่า(I)

  1. Bitcoin และ Digital assets  ต่าง ๆ นั้นมีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยี ส่วนการประยุกต์ใช้ด้านการเงินการลงทุน เป็นการนำมาต่อยอดหากำไร ดังนั้น การจะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องใช้ “ข้อมูล” (ไม่ต้องถึงกับ “ความรู้”) ทางสายเทคโนโลยีประกอบด้วย การดูกราฟราคาและตีความไปทันทีนั้นไม่เพียงพอ
  2. ในเชิงเทคโนโลยีนั้น Digital assets ยังอยู่เพียงยุคเริ่มต้น ยังไปได้อีกไกล และจะดีขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผู้ใช้งาน
  3. การที่ราคา Digital assets รวมถึง Bitcoin ร่วงลงทั่วหน้า น่าจะเป็นผลของการทำกำไรจากที่ขึ้นมาเยอะ บวกกับกระแสข่าว Soft fork ที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสกุล Bitcoin ขณะที่เงินสกุลอื่นโดนหางเลข ส่วนในอนาคตถ้าจะมี soft fork กับเงินสกุลอื่นเกิดขึ้น ก็ถือว่าต่างกรรมต่างวาระ ไม่เกี่ยวกัน
  4. กำลังการขุดทั่วโลกยังเพิ่มขึ้น เหมืองยังได้กำไรจากการขุดในอัตราสูง เหมืองยังไม่แตก แต่ยิ่งโต

-SJ@TIF, IBM’s Blockchain Essentials for Developers Certificate –
4.20pm, 18 July 2017

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• https://seekingalpha.com/article/4081773-bitcoin-faces-urgent-scalability-problems
• https://seekingalpha.com/article/4081991-august-1st-end-bitcoin
• https://bitcoin.org/en/alert/2017-07-12-potential-split
• https://bitinfocharts.com/
• https://blockchain.info/
• https://etherscan.io/(F)

Categories: Digital Asset

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *