Investment Articles

พร้อมรับความท้าทายในการลงทุนไปกับ Megatrends | สรุป KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead โดยบลจ.กสิกรไทย

[Special Content]

ใครจะคิดว่าโทรศัพท์ที่ทุกคนมีใช้กันอย่าง Nokia ต่อมากลับแทบจะหายไปจากตลาด เพราะถูกแทนที่ด้วยสมาร์ทโฟน ใครจะคิดว่าร้านเช่าเนื้อหาบันเทิงระดับโลกอย่าง Blockbuster หรือ Tsutaya จะต้องปิดตัวลงเพราะ On-demand content ที่ผู้คนสามารถเสพสื่อออนไลน์ได้โดยไม่ต้องลุกออกจากบ้าน กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านพฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยีที่รุดหน้า ส่งผลให้ผู้เล่นหน้าใหม่แจ้งเกิดและเติบโตได้อย่างทวีคูณในเวลาไม่นาน พร้อมกับการล่มสลายของผู้เล่นเดิมที่ปรับตัวไม่ทัน

การลงทุนของเราเองก็เช่นกัน นอกจากความเข้าใจงบการเงิน พื้นฐานบริษัท หรือแม้แต่กราฟเทคนิค นักลงทุนที่จะ “ไปต่อได้” จำเป็นต้องมองไปยังอนาคต และเมื่อพูดถึงอนาคต คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าใจและรู้เท่าทัน Megatrends ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และแม้กระทั่งฐานะความเป็นอยู่ของเราเองในแต่ละวัน

ตัวอย่างการลงทุนในหุ้นที่สามารถจับ Megatrends โลก ทั้งในเชิงพฤติกรรมผู้บริโภคที่วิวัฒน์ไป และในเชิงเทคโนโลยีอินเตอร์เนทความเร็วสูงที่เข้าถึงระดับครัวเรือน จนสามารถสร้างความเติบโตของราคาหุ้นได้มหาศาลในเวลาไม่ถึง 20 ปีเช่น Netflix ที่จากเดิมให้เช่า DVD ส่งทางไปรษณีย์ กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ในด้าน On-demand streaming อีกทั้งยังเป็นเจ้าของเนื้อหาชั้นนำเองอีกด้วย หลังจากเข้าตลาดในปี 2002 ที่ราคาประมาณ $1.07 ผ่านไป 17 ปี มีราคาล่าสุดอยู่ที่ $367 หรือเติบโตเฉลี่ย 40.9% ต่อปี

(ที่มา : cnbc.com)

จะเห็นว่า การลงทุนใน Megatrends นั้น หากสามารถจับแนวโน้มได้ถูกต้อง ผนวกกับระยะเวลาการลงทุนที่มากพอเพื่อตัดความผันผวนระยะสั้นออกไป ก็จะทำให้เกิดโอกาสในการลงทุนและสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล แต่กระนั้น Megatrends เองก็ยังเป็นภาพการลงทุนกว้าง ๆ แม้นักลงทุนจะรู้แล้วว่า Megatrends นั้นมีประเด็นอะไรที่กำลังโดดเด่นอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องการข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างแม่นยำ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บลจ. กสิกรไทย นำโดยคุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย พร้อมด้วยพันธมิตร บลจ.ระดับโลกมากประสบการณ์อย่าง Allianz Global Investors และ Baillie Gifford ได้จัดงานสัมมนา KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้เชี่ยวชาญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลากหลายมิติ รวมถึงมุมมองด้านการลงทุนเพื่อให้พร้อมสำหรับการก้าวไปคว้าโอกาสที่น่าสนใจในทศวรรษใหม่

โดยคุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ได้ตั้งคำถามว่า “ทำไมวันนี้เราต้องพูดเรื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า” ทำไมไม่พูดประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ เช่น  FED ถ้าปรับลดดอกเบี้ยแล้วจะเป็นอย่างไร หรือ Trade war จะจบเมื่อไร แต่หากเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ จะพบว่าแต่ละยุคสมัยจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการเมืองการปกครอง เช่นสมัยก่อนมีกำแพงเบอร์ลิน และสหภาพโซเวียต ปัจจุบันก็ล่มสลายไป หรือในด้านโครงสร้างประชากร สมัยก่อนเราจะได้ยินคำว่า Over population แต่ปัจจุบันจะได้ยินคำว่า Aging society แทน หรือแม้แต่ด้านเทคโนโลยีเองที่สมัยก่อนเราดูละครได้ผ่านโทรทัศน์เท่านั้น แต่สมัยนี้สามารถดูผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือได้  

ถ้าเราสังเกตการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้น ล้วนเกิดจากความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพของชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งน่าจะเป็น Megatrends ที่มีการปรับเปลี่ยนขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง หากเราสามารถนำประเด็นเหล่านี้ซึ่งเกิดจากพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่พยายามมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มาจัดเป็นกลุ่มต่าง ๆ ที่เหมาะสม ก็น่าจะเห็นความเป็นไปได้ของโลกในอนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่การจะทราบว่า Megatrends อะไรที่น่าจะเกิดขึ้นรวมถึงผลอาจเกิดกับเราในอีก 20 ปีข้างหน้า ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความเข้าใจภาวะการณ์ในปัจจุบันด้วย

(คุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวเปิดงาน)

หากมองภาพในระดับโลก ขณะนี้กำลังเกิด 3 สงครามใหญ่ ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคต

  • สงครามแรกคือ สงครามระหว่างเศรษฐกิจยุคเก่า (Traditional) และเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy)
  • สงครามที่สอง คือ สงครามระหว่างสหรัฐฯ และจีน
  • และสงครามที่สาม คือ สงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์

โดยดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ ถึงผู้ชนะและผู้แพ้ของสงครามนี้ และผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

(ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย)

สงครามแรก ระหว่างเศรษฐกิจยุคเก่า (Traditional) และเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) ซึ่งปัจจุบันโลกของเราได้มีการเปลี่ยนผ่านจากยุคการค้า เป็นยุคการเงิน และเข้าสู่ยุคข้อมูล โดยปริมาณข้อมูลที่หมุนเวียนในโลก มีการเติบโตอย่าง exponential ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

(ที่มา : Visual Capitalist, Forbes, World Economic Forum, Wired)

แม้ในยุคนี้จะเป็นยุคที่ใครที่มีข้อมูลมากกว่าได้เปรียบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ใช้ข้อมูลเป็นหลักจะชนะเศรษฐกิจยุคเก่า หากแต่ผู้ชนะ คือ ผู้ที่สามารถรวมข้อดีของทั้งสองยุคเข้าด้วยกัน และรู้จักปรับตัวตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งธุรกิจที่สามารถทำได้จะทำให้มีโอกาสอยู่รอดและโดน Disrupt ได้ยาก เช่น ธุรกิจร้านอาหารที่ยังมีหน้าร้าน แต่ก็สามารถสั่งผ่านออนไลน์และไปส่งให้ลูกค้าที่บ้านได้ จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนมากในการขยายสาขาใหม่ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากลูกค้าเองก็สามารถนำไปทำ Digital Marketing ผ่าน Facebook ซึ่งเป็นช่องทางการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพสูงและช่วยประหยัดต้นทุนค่าโฆษณาได้อีกด้วย ดังนั้น นักลงทุนควรจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่สามารถรวมทั้งสองยุคนี้เข้าด้วยกันได้

ต่อมาคือสงครามระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจริง ๆ แล้วสงครามที่เกิดขึ้นนั้น คือ สงครามการแย่งจุดยุทธศาสตร์ทั้งในด้านการค้า การเงิน และเทคโนโลยี ไม่ใช่สงครามการค้าเพียงอย่างเดียว โดยสงครามนี้น่าจะยังไม่จบง่าย ๆ  แม้จะยังมองผู้ชนะในศึกนี้ได้อย่างยาก และในระยะสั้น สงครามนี้คงจะส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย แต่ในระยะยาวประเทศในอาเซียนก็มีโอกาสได้รับผลดีจากการย้ายฐานผลิต โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่คาดว่าได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนในการพิจารณาเข้าไปลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์

(ที่มา : The ASEAN Post, Nomura)

สงครามสุดท้าย คือ สงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ แม้ในปัจจุบันหุ่นยนต์หรือ AI ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์ยิ่งขึ้น จนหลายคนเริ่มกังวลว่าสมองกลจะเข้ามาแทนที่ตัวเองไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ยังมีความคิดสร้างสรรค์และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ไม่มี ทำให้มนุษย์มีบทบาทเหนือหุ่นยนต์ ดังนั้น มนุษย์ที่สามารถเรียนรู้และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ก็จะเป็นผู้ชนะและอยู่รอดในยุคหุ่นยนต์ได้ เหมือนกับนักลงทุนต้องไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพื่อที่จะสามารถอยู่รอดในโลกของการลงทุนในยุคนี้ที่มี Robot Trade หรือ AI Trade

และภายใต้ 3 สงครามที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ได้สร้างโอกาสการลงทุนหลากหลาย Theme ผ่านกระแส Megatrends ของโลก ซึ่ง Mr.Holger Wehner, Product Specialist ของ Allianz Global Investors มองว่ามีแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นอยู่หลัก ๆ 4 Megatrends ได้แก่

1) การขยายตัวของเมือง (Urbanization) โดยปัจจุบันประชากรในหลายประเทศย้ายเข้าอยู่ในเมืองใหญ่กันมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ ผศ.ดร.สุวรรณ จันทิวาสารกิจ ผู้อำนวยการหลักสูตร CIO วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่าผู้คนทั่วโลก ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่โดยเฉลี่ยมากถึง 3,000,000 คน/สัปดาห์ ซึ่งกรุงเทพมหานครก็เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่นั้น เราจึงสามารถลงทุนผ่าน Theme Smart cities โดยเน้นลงทุนในธุรกิจกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีโอกาสเติบโตตามการไหลบ่าของคนวัยทำงานเข้าสู่เมืองใหญ่

(ที่มา : McKinsey & Company)
(ผศ.ดร.สุวรรณ จันทิวาสารกิจ ผู้อำนวยการหลักสูตร CIO วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

2) ขยับมาที่การลงทุนผ่าน Megatrends เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคม (Demographical & Social Change) โดยการลงทุนใน Theme Pet Economy มีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรในปัจจุบันมีผู้อาศัยอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น จึงมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนมากขึ้น โดยข้อมูลจาก Allianz Global Investors ชี้ว่าธุรกิจสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ มีการเติบโตขึ้นเฉลี่ย 5.2% ต่อปี


(ที่มา : Allianz Global Investors)

3) แนวโน้มของนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี (Technological Innovation) ก็ทำให้เกิด Theme การลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence  หรือ AI) ซึ่งปัจจุบัน AI มีบทบาทในด้านธุรกิจมากขึ้น ทั้งด้านขนส่ง การเงิน การแพทย์ หรือการผลิต หรือแม้แต่บริษัท Platform ต่าง ๆ ที่เกิดในเศรษฐกิจยุคใหม่ อย่าง Facebook หรือ Airbnb ก็ได้รับแรงสนับสนุนจาก Megatrends นี้เช่นกัน และยังมีอีกหลาย Theme ที่เกิดขึ้นภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้มากในอนาคต เช่น Theme Battery Storage ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังบริษัทที่ทำธุรกิจจัดหาวัตถุดิบด้านนี้ และผู้ดูแลและพัฒนาโครงสร้างเกี่ยวกับ Storage

(Mr.Holger Wehner, Product Specialist จาก Allianz Global Investors)

4) นอกจากนั้น ความมีอยู่อย่างจำกัดของทรัพยากรของโลก (Resource Scarcity) ก็ทำให้เกิด Theme การลงทุนในพลังงานสะอาด ซึ่ง Mrs. Alison Cuthbert, Portfolio Specialist จาก Baillie Gifford ได้ยกตัวอย่างการลงทุนในบริษัท Orsted ซึ่งเปลี่ยนพลังงานลมในทะเลมาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะเป็นบริษัท Signify ซึ่งสามารถผลิตหลอดไฟ LED ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้มากยิ่งขึ้น

(Mrs. Alison Cuthbert, Portfolio Specialist จาก Baillie Gifford)

จะเห็นได้ว่า Megatrends ต่าง ๆ นั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกและสร้างโอกาสในการลงทุนมากมาย ซึ่งในประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย โดยคุณธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA Chief Investment Officer  บลจ.กสิกรไทย ชี้ให้เห็นว่า Theme ที่ค่อนข้างสำคัญและจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้คือ Theme การลงทุนในการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Spending) ซึ่งสอดรับกับ Megatrends ของโลกอย่างการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) โดยจากข้อมูล ก็พบว่าตั้งแต่ปี 2015 ในประเทศไทยภาครัฐเริ่มมีการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มมากขึ้น

(ที่มา : NESDB)

รวมทั้ง Theme การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอล (Digitalisation) เองก็สอดรับกับ Megatrends นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี (Technological Innovation) โดยหากพิจารณาในด้าน E-Commerce ก็พบว่ามูลค่าธุรกิจของประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดในระดับ 18% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งการเติบโตนี้ได้รับการสนับสนุนจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทย และการมี Mobile e-payment ของธนาคาร

(ที่มา : ETDA, Ministry of Digital Economy and Society)
(คุณธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย)

และถึงแม้บาง Megatrends อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนต่อประเทศไทย แต่ก็เชื่อว่าในอนาคต คนไทยจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แน่นอน ดังนั้น เมื่อ Megatrends เหล่านี้กำลังก่อตัวและอยู่ในช่วงเติบโต ใครที่สามารถเรียนรู้และพร้อมคว้าโอกาสในการลงทุนนี้ได้ก่อน ก็จะเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ◄

Categories: Investment Articles